“เฟทโก้” เผยหุ้นไทยยังมีโอกาส แม้ระยะสั้นจะผันผวนตามปัจจัยที่เข้ามารบกวน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการที่โครงสร้างนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยังมีนักลงทุนระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักลงทุนในประเทศ รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ส่วนใหญ่ยังไหลเข้ามาในรูปแบบนิ่งๆ โดยมีบางส่วนไหลออกไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย ขณะที่มีเพียงนักลงทุนสถาบันเท่านั้น ที่มีการลงทุนในระยะยาว เมื่อเกิดปัจจัยที่สร้างบรรยากาศเสี่ยงในระยะสั้นขึ้น ก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวน แต่คาดว่าจะเกิดเพียงระยะสั้นเท่านั้น และยังเชื่อมั่นว่าในระยะยาวการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยังคงมีทิศทางที่จะให้ผลตอบแทนในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากปัจจัยเดียวที่จะทำให้ตลาดหุ้นลงหนักๆ คือ การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว แต่ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวเท่านั้น และขณะนี้ก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นได้ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี ข้างหน้า อีกทั้งกลไกที่จะทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของอัตราดอกเบี้ย สภาพคล่อง ความมั่นใจของนักลงทุนประกอบกันด้วย

“หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นและการค้าขายกลับมาดี ประเทศไทยก็จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยนี้ด้วย ในส่วนของรัฐบาล มองว่าการบริหารประเทศในภาวะเช่นนี้ไม่ง่าย ซึ่งรัฐบาลก็เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ได้นิ่งเฉย แต่การกระตุ้นที่นำมาใช้ยังไม่เห็นผลดีเท่าที่ควร จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน แต่หากรัฐบาลเริ่มจับทางได้ถูก ก็จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนมากขึ้นได้ โดยแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ มองว่าภาครัฐจำเป็นต้องมีการลงทุน โดยเฉพาะการซื้อเครื่องจักรหรือสิ่งที่จำเป็นต้องซื้ออยู่แล้ว เพื่อให้เงินบาทไหลออกนอกประเทศบ้าง ลดแรงกดดันค่าเงินบาท รวมถึงกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนที่จะตามมาอีกด้วย ทำให้เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในอนาคตจะสร้างผลตอบแทนสูงได้ แต่ในระยะยาว รัฐบาลต้องมีการแยกวงเงินลดหย่อนภาษีของกองทุนใหม่ที่จะมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) เพื่อสนับสนุนนักลงทุนที่วางแผนลงทุนในระยะยาวมากขึ้น”นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธ.ค.62-ก.พ.63) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว โดยเพิ่มขึ้น 1.72% มาอยู่ที่ระดับ 87.93 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ผลสำรวจพบว่า นักลงทุนคาดหวังในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะคลายตัวได้มากขึ้น โดยมีปัจจัยการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติเป็นเรื่องที่หนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนได้มากที่สุด ขณะที่ความกังวลเป็นเรื่องของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยในช่วงเดือนพฤศจิกานน 2562 ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในช่วง 1,590-1,641 จุด โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมาอยู่จุดสูงสุดที่ 1,641 จุด จากนั้นทยอยปรับตัวลดลงมาอยู่บริเวณ 1,590-1,600 ตลอดเดือน แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตชะลอตัวลง โดยดัชนีปรับฟื้นตัวขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายมาอยู่ที่ 1,610-1,620 จุด จากปัจจัยความคาดหวังผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่คาดว่าจะสามารถลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกได้ภายในปี 2562 และคาดหวังว่าจะมีการเลื่อนหรือยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้ง ในรอบวันที่ 15 ธันวาคม 2562 มูลค่า 300 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายไพบูลย์กล่าวว่า ในส่วนของทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยที่จะหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือ ความคาดหวังการเจรจาทางการค้าของสหรัฐกับจีน และการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนกังวลผลประกอบการบจ.มากที่สุด รองลงมาคือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวยังดูเติบโตได้ สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ความชัดเจนของข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 และแนวโน้มการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในขั้นที่ 2 นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในปี 2563 ความไม่แน่นอนของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลักที่ยังอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปี และนโยบายภาครัฐไทยในการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image