คลอดแล้วจ้า กองทุนใหม่ ‘เอสเอสเอฟ’

(Super Savings Fund: SSF) มาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะหมดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562

นอกจากนี้ ครม.ยังให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น

กองทุนเปิดใหม่เอสเอสเอฟ และการปรับปรุงอาร์เอ็มเอฟ กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นทำงาน

เนื่องจากเพิ่มการนำมาหักลดหย่อนภาษี จากเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน

Advertisement

ยกตัวอย่างถ้ามีเงินรายได้เดือนละ 5 หมื่นบาท หรือปีละ 6 แสนบาท สามารถซื้อกองทุนทั้ง 2 ได้ กองทุนละ 1.8 แสนบาท ซึ่งจะแตกต่างของเดิมกำหนดให้นำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน เท่ากับว่าของใหม่นั้นให้ออมเพิ่มขึ้นเท่าตัว

มีข้อแม้คือเอสเอสเอฟ ซื้อสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ คือ กองทุนอาร์เอ็มเอฟ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

ส่วนอาร์เอ็มเอฟไม่กำหนดวงเงินซื้อสูงสุด แต่เมื่อรวมกับกองทุนอื่นๆ เหมือนกับเอสเอสเอฟ คือ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปีเช่นกัน
ถือว่าแตกต่างจากเดิมที่แอลทีเอฟ

Advertisement

กำหนดวงเงินซื้อสูงสุด 5 แสนบาท และอาร์เอ็มเอฟให้ซื้อสูงสุด 3 แสนบาท เมื่อรวมกับการซื้อกองทุนอื่นๆ เท่ากับว่าผู้เสียภาษีสามารถลดหย่อนในระดับ 1 ล้านบาท แต่ของใหม่เหลือครึ่งเดียว

ดังนั้น กลุ่มคนที่รายได้สูงๆ ต้องการใช้ช่องทางภาษีในการช่วยออมเงิน อาจต้องคิดใหม่

กระทรวงการคลังกำหนดให้นำเอสเอสเอฟมาหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี เริ่มในปี 2563-2567 หลังจากนั้นจะประเมินผลของมาตรการว่าควรจะต่ออายุหรือไม่ โดยกำหนดให้ผู้ซื้อกองทุนต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ หรือเท่ากับ 12 ปีปฏิทิน แตกต่างจากแอลทีเอฟเดิมกำหนดให้ถือครอง 7 ปีปฏิทิน หรือแค่ 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ

ทั้งนี้ ทั้ง 2 กองทุน เอสเอสเอฟและอาร์เอ็มเอฟไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง จากเดิมอาร์เอ็มเอฟกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี และมีเงื่อนไขต้องซื้อไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน

ในส่วนของนโยบายการลงทุนกองทุนเอสเอสเอฟ กระทรวงการคลังเปิดกว้างด้านการลงทุนได้ทุกประเภท จากเดิมแอลทีเอฟ กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเปิดกองทุนใหม่เอสเอสเอฟแทนแอลทีเอฟ และปรับปรุงหลักเกณฑ์อาร์เอ็มเอฟ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะมุ่งเน้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนเพิ่งเริ่มทำงาน และกลุ่มมีรายได้ปานกลางเข้ามาออมเงินเพื่อเกษียณให้มากขึ้น

โดยประเมินว่าถ้ามีการซื้อเอสเอสเอฟ และอาร์เอ็มเอฟเต็มเพดานที่กำหนด กลุ่มคนที่มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท จะมีเงินออมระยะยาวเพิ่มขึ้นปีละ 1.8 แสนบาท ถ้ารายได้เดือนละ 5 หมื่นบาท จะมีเงินออมเพิ่มขึ้นปีละ 3.6 แสนบาท หากรายได้เดือนละ 1 แสนบาท จะมีเงินออมเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนบาท

ก่อนหน้านี้มีคนใช้สิทธิในการคืนภาษีแอลทีเอฟ ปีละ 4 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืน 1 หมื่นล้านบาท ส่วนอาร์เอ็มเอฟประมาณ 2 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืน 6 พันล้านบาท โดยคาดว่ากองทุนใหม่จะไม่ต่างจากของเดิม

สำหรับแอลทีเอฟเดิมจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 นักลงทุนยังคงสามารถซื้อหน่วยลงทุนในต่อได้ แม้ว่าจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นๆ

รื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการออกกฎกระทรวงกองทุนใหม่และแก้ไขอาร์เอ็มเอฟ ซึ่ง ก.ล.ต.พร้อมนำเรื่องนี้ไปประสานกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรับมือ คาดว่าเปิดให้ประชาชนเข้ามาลงทุนกองทุนใหม่อย่างช้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ด้านวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง กล่าวว่า หากจะเปรียบเทียบเอสเอสเอฟกับแอลทีเอฟแล้ว ของใหม่สู้ของเดิมไม่ได้ โดยจากสถิติในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีเม็ดเงินจากกองทุนแอลทีเอฟไหลเข้าตลาดหุ้นประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ในปี 2562 ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินจากกองทุนแอลทีเอฟเข้ามาในตลาดหุ้นน้อยมาก สาเหตุหลักมาจากการที่ภาวะตลาดหุ้นในขณะนี้ยังไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน เพราะตลาดค่อนข้างซึมตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตลง

ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ เมื่อไม่มีกองทุนแอลทีเอฟแล้วจะทำให้การออมระยะยาวหดตัวไปด้วยหรือไม่ เพราะผู้ออมระยะยาวเคยได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีรวมทุกกองทุนหลักล้านบาท

แต่กองทุนเอสเอสเอฟตั้งเพดานไว้ที่ 5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถจูงใจนักลงทุนใหม่ๆ ให้เข้ามาเพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image