บอร์ดอีอีซีเห็นชอบแผนจัดการขยะผุดโรงไฟฟ้า-บริการสาธารณสุข

บอร์ดอีอีซีเห็นชอบแผนจัดการขยะผุดโรงไฟฟ้า-บริการสาธารณสุข

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพอ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนแผนงานสำคัญต่อเนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก คือ แผนการจัดการขยะในพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีอี และแผนการยกระดับบริการสาธารณสุขในอีอีซี ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดถือเป็นงานที่ต้องเร่งทำในปี 2563 และพล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำว่า ต้องการให้สำนักงานกพอ. ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก

นายคณิศกล่าวว่า แผนจัดการขยะ ที่ประชุมได้สั่งให้สำนักงานกพอ. ประสานจังหวัด และอปท. โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการบริหารจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ทั้งขยะบก บนเกาะ และในทะเล ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยให้กลุ่มบริษัท ปตท. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี เข้าร่วมศึกษา พร้อมทั้งให้จังหวัดในพื้นที่อีอีซีเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับอปท. จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ก่อนให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ ในพื้นที่อีอีซีต่อไป

“ปัจจุบันที่จังหวัดระยองมีโครงการต้นแบบขยะอยู่แล้ว ดำเนินการโดยปตท. ส่วนพื้นที่อื่นในอีอีซีต้องเร่งทำให้ได้ภายใน 3-4 ปีนี้ โดยจะศึกษาพื้นที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งโรงจัดการขยะและโรงไฟฟ้าจากขยะ ล่าสุดเห็นว่า พื้นที่เหมาะสมอาจต้องสร้างในจังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แห่ง รวมทั้งพื้นที่ทางตอนเหนือของชลบุรีอีก 1 แห่ง และขยายโรงงานเดิมของระยองเพิ่มขึ้น ปัจจุบันในพื้นที่อีอีซีมีปริมาณขยะวันละ 4,200 ตัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6,800 ตัน ในปี 2580 แถมมีขยะสะสมอยู่อีก 6 ล้านตันที่ฝังกลบอยู่ ดังนั้นหากมีการสร้างโรงกำจัดและโรงไฟฟ้าขยะ จะช่วยลดปริมาณขยะลงจนหมดสิ้นภายใน 12 ปี เบื้องต้นกอพ.จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้ มีผลตอบแทนทางการเงินสูง อาทิ ระยองผลตอบแทนกว่า 8-9%

Advertisement

นายคณิศกล่าวว่า สำหรับแผนการยกระดับบริการสาธารณสุขนั้น มีโครงการที่ต้องเร่งทำ 14 โครงการ แบ่งเป็น ด้านจัดทำข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับพัฒนาระบบข้อมูลให้ครอบคลุมในพื้นที่ 3 โครงการ โดยมีโครงการสำคัญ คือ การจัดทำข้อมูลด้านการบริการสุขภาพของประชากรในพื้นที่อีอีซีทั้งหมดด้วยระบบบิ๊กดาต้า เพื่อให้ภาครัฐรับทราบข้อมูลของผู้ที่เข้ารับบริการสาธารณสุขได้อย่างครบถ้วน ทั้งประชาชน นักธุรกิจ แรงงานต่างด้าว และนักท่องเที่ยว ก่อนจะทำไปบริหารจัดการได้ตรงจุด ส่วนด้านต่อไป คือรัฐและเอกชนร่วมทุน ลงทุนระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนในพื้นที่ จัดทำบริการในโรงพยาบาลให้คล่องตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน 6 โครงการ และด้านเครือข่ายเดียว ระบบเดียว บริการรัฐแนวใหม่อาศัยการทำงานบนความร่วมมือของเครือข่ายภาครัฐสังกัดต่างๆ อปท. และเอกชน โดยใช้ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรอื่นร่วมกัน 5 โครงการ

นายคณิศกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยกพอ.เห็นชอบแผนการส่งมอบพื้นที่ รื้อย้ายสาธารณูปโภค และกรอบวงเงินที่จำเป็น ให้หน่วยงานที่ขอรับจัดสรรงบประมาณในการรื้อย้ายเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเริ่มการก่อสร้าง ส่วนแผนการก่อสร้างทดแทนกลับคืนหลังรื้อย้าย ที่ประชุม กพอ. ให้ คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) มอบหมายคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ และทำรายละเอียดให้เสร็จภายในมกราคม 2563 พร้อมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล คณะกรรมการบริหารสัญญา และโครงสร้างการบริหารจัดการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อบริหารสัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะช่วงเริ่มโครงการฯ ที่เน้นการออกแบบและการก่อสร้างเป็นหลัก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image