ส.อ.ท.ซัดการเมืองแทรกแซง-ขึ้นค่าจ้างกดดันเอสเอ็มอีปิดโรงงาน

ส.อ.ท.ซัดการเมืองแทรกแซง-ขึ้นค่าจ้างกดดันเอสเอ็มอีปิดโรงงาน

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสายแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้าง ปรับขึ้นค่าจ้างในอัตรา 5-6 บาทต่อวันทั่วประเทศ ว่า การขึ้นค่าจ้างในอัตรา 5-6 บาทต่อวันครั้งนี้มองว่าไม่เหมาะสม แม้เหตุผลของการขึ้นค่าจ้างครั้งนี้คณะกรรมการค่างจ้างพิจารณาระบุว่ามาจาก 4 ปัจจัย คือ อัตราเงินเฟ้อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี) ความสามารถของผู้ประกอบการ และความจำเป็นของลูกจ้าง แต่อัตราดังกล่าวอยู่ในระดับสูงเกินไป ควรอยู่ระดับ 3 บาท ถึง 3 บาท 50 สตางค์เท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ไม่สู้ดีนัก จะเห็นว่ามีเอสเอ็มอีหลายโรงงานเลือกประคองธุรกิจหลังจากคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ลดลง ด้วยการปิดการผลิตบางส่วนแล้วเลือกจ่ายเงินให้แรงงาน 75% แทน นั่นเพราะต้องการรักษาแรงงานไว้ และคาดหวังอนาคตสถานการณ์คำสั่งซื้อจะกลับมา และทำให้กิจการดีขึ้นอีกครั้ง

“ตอนนี้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีกำลังประสบภาวะลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มส่งออก จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และเจอปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้บางกิจการเลือกปิดกิจการลง แต่ก็มีหลายกิจการเลือกประคองธุรกิจด้วยการหยุดผลิตชั่วคราว และใช้วิธีจ่ายเงิน 75% โดยกิจการเหล่านี้ต่างเฝ้าดูว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ ดีเหมือนเดิมเมื่อไร แต่ผลจากการขึ้นค่าจ้างท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ กังวลว่าจะทำให้เอสเอ็มอีต้องปิดกิจการลงแน่นอน”นายสุชาติกล่าว

นายสุชาติกล่าวว่า นอกจากนี้จากการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่สดใส และอาจแย่กว่าปีนี้ด้วยซ้ำ ล่าสุดหลายอุตสาหกรรมเริ่มพบสัญญาณคำสั่งซื้อชะลอตัว เพราะตลาดต่างประเทศมีปัญหา ตามปกติผู้ประกอบการรายใหญ่จะป้อนงานให้เอสเอ็มอีช่วยผลิต เมื่อออดอร์ไม่ดี รายใหญ่ก็จะจ้างให้เอสเอ็มอีรับช่วงผลิต สถานการณ์เช่นนี้การขึ้นค่าจ้างต้นทุนสำคัญของปีหน้าจึงไม่สมควรอย่างยิ่ง ดังนั้นหลังจากนี้คงได้แต่เฝ้าดูว่าธุรกิจใดจะสู้ต่อ หรือเลิกกิจการไปเอง

Advertisement

“ค่าจ้างปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน หากพิจารณาในกลุ่มผู้ส่งออกที่กำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าระดับ 7-8% ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อแปลงเป็นต้นทุนค่าจ้างทำให้ผู้ประกอบมีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นประมาณ 25 บาทต่อวัน ดังนั้นการปรับขึ้น 5-6 บาทครั้งนี้ จึงทำให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 30 บาทต่อวัน ทำให้ต้องจ่ายค่าจ้างจริงๆประมาณ 355 บาทต่อวัน ขณะที่ส่งออกลดลง ดังนั้นธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจึงเผชิญปัญหา เสี่ยงปิดกิจการแน่นอน”นายสุชาติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image