“บิ๊กป้อม” ห่วงประชาชนเจอปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมทุกปี สั่ง สทนช เร่งรัดแก้ไขวางแผนใช้น้ำระยะยาว 20 ปี รองรับ “อีอีซี” หวั่นแล้งน้ำหนักสุด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ พบว่ามีโครงการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการดำเนินการได้ภายในปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 57 โครงการ เป็นโครงการที่ผ่านคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้ว 25 โครงการ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว 21 โครงการ เช่น แผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ แผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พร้อมอาคารประกอบ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ จังหวัดชัยภูมิ โครงการปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาบ้านฉาง (รองรับ EEC) โครงการปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพังงา-ภูเก็ต เป็นต้น ส่วนอีก 4 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม. พิจารณา ได้แก่ โครงการสำรวจความสูงภูมิประเทศด้วยแสงเลเซอร์ (LiDAR) ระยะที่ 2 โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ตามแนวพระราชดำริ (คลองผันน้ำคลองชุมพร) โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนอีก 32 โครงการ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกระบวนการด้านงบประมาณและนโยบาย พร้อมทั้งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมหาทิศทางการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้รายงานความก้าวหน้าของโครงการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทุก 3 เดือน และให้ สทนช. จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายในแต่ละประเภท

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่ความความพร้อม จำนวน 2 โครงการ เพื่อเสนอต่อ กนช. ในการประชุมวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเสนอครม.ต่อไป ซึ่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ดังนั้นแผนหลักเพื่อรองรับการพัฒนาในระยะ 20 ปี ที่ สทนช.ได้ทำการศึกษา มีความสำคัญที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้เร่งจัดเตรียมการดำเนินการแผนงานทางเลือกให้มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในปีที่มีน้ำน้อย เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมถึงการพิจารณา หลักการกรอบแผนการพัฒนาหนองหาร ปี 2563-2570 ของโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร โดยในพื้นที่จังหวัดสกลนครในแต่ละอำเภอมักเกิดน้ำท่วมได้จากหลายสาเหตุ เช่น อำเภอโคกศรีสุพรรณ จะน้ำท่วมจากน้ำที่ระบายมาจากหนองหาร อำเภอเมือง มีสภาพเป็นแอ่งลุ่มต่ำ ทางระบายน้ำไม่เพียงพอ สิ่งกีดขวางทางน้ำหลายแห่ง และการบุกรุกพื้นที่หนองหาร จึงมีความต้องการที่จะฟื้นฟูหนองหาร เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งและสามารถป้องกันอุทกภัยได้ในฤดูฝน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมดำเนินการตามกรอบแผนระยะเร่งด่วน ปี 2563-64 รวมทั้งหมด 36 โครงการ จากทั้งหมด 69 โครงการ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ รวม 12 หน่วยงาน

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังเน้นย้ำให้ กนช. ติดตามเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) โดยมีมาตราการดังนี้

Advertisement

การบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดน้ำ ลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ชะลอการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียจากการลดปริมาณน้ำเสีย ประกอบด้วย น้ำอุปโภค-บริโภค ต้องมีการรณรงค์ส่งเสริมมาตรการ 3Rs เพื่อประหยัดการใช้น้ำ ส่งเสริมการใช้น้ำซ้ำ และการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ (น้ำ recycle) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และช่วยลดปริมาณน้ำเสียที่ต้องบำบัดได้อีกด้วย เสนอให้ดำเนินการโดยการประปาส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปรับปรุงท่อส่ง-จ่ายน้ำระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาค และใช้การผลิตน้ำประปาแบบรวมศูนย์หรือ Water Cluster เพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสียให้ได้ ร้อยละ 20 ภายในปี 2580 พื้นที่เมืองใหม่ อีอีซี ควรใช้ระบบท่อแยกระหว่างท่อระบายน้ำฝนและท่อรวบรวมน้ำเสีย เพื่อให้นำน้ำฝนไปใช้ประโยชน์ได้ ส่งเสริมให้มีการเวียนใช้น้ำซ้ำก่อนระบายทิ้งและนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์

น้ำอุตสาหกรรม การรณรงค์ส่งเสริมมาตรการ 3Rs ประหยัดการใช้น้ำ ส่งเสริมการใช้น้ำซ้ำ และการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ (น้ำ recycle) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ร้อยละ 20 ของปริมาณการใช้น้ำ ภายในปี 2580

น้ำเพื่อการเกษตรกรรม ส่งเสริมการปลูกพืชที่ได้ผลตอบแทนสูง มีการปรับลดพื้นที่เพาะปลูก (ในเขตชลประทาน) ให้สอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน และศักยภาพด้านน้ำ ส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ และการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ได้แก่ การเพาะปลูกแบบโรงเรือน การควบคุมปัจจัยด้านต่าง ๆ การให้น้ำแบบประหยัด การเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน ลดการสูญเสียน้ำ ร้อยละ 5 ของปริมาณการใช้น้ำ ภายในปี 2570 การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติมในระดับพื้นที่ (สระน้ำในไร่นา สระน้ำในพื้นที่สาธารณะ เช่น หมู่บ้าน ตำบล) เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำเดิม และนอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image