กวี 2 แผ่นดิน นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ ขบวนพยุหยาตราชลมารค 2562

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาลที่ 9
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาลที่ 9

กวี 2 แผ่นดิน นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ ขบวนพยุหยาตราชลมารค 2562

 

“สังคมไทยในอดีตมักเลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแหล่งน้ำ การสัญจรหลักของคนสมัยก่อนจึงเป็นทางน้ำ โดยเฉพาะการใช้เรือ สังเกตได้จากบันทึกประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญและนิราศต่างๆ”

“ส่วนพระเจ้าแผ่นดิน เวลาเสด็จฯไปไหนมาไหน ก็ไปทางเรือเช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะไปง่ายๆ เหมือนคนทั่วไป เพราะไม่ได้เสด็จฯพระองค์เดียว แต่มีข้าราชบริพาร ทหาร และอีกมากมายตามเสด็จ ฉะนั้นเวลาจะเสด็จฯไปไหน จะต้องมีเรือเป็นขบวน นี่จึงเป็นมูลเหตุของการมีแบบแผนเรือพระราชพิธี”

“การพายเรือไปยังจุดหมาย ไม่ใช่ว่าพาย 3 ทีแล้วจะถึง อย่างพายจากราชบุรีที่ผมอยู่ไปกรุงเทพฯ ก็คงหลายชั่วโมง กว่าจะถึงก็คงเหนื่อย จึงมีการคิดหาวิธีคลายเหนื่อยและคลายเครียดให้ฝีพาย ด้วยการให้ฝีพายพายไปพร้อมๆ กัน ตรงนี้ยังทำให้เกิดจังหวะการพาย และการร้องเห่เรือขึ้นมา ทั้งหมดนี้คือรากเหง้าขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและกาพย์เห่เรือ”

Advertisement

คำอธิบายที่มาขบวนพยุหยาตราชลมารค โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ เปิดบ้านพักย่าน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประพันธ์กาพย์เห่เรือ ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ถือเป็นการประพันธ์กาพย์เห่เรือใหม่ เพื่อใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 แต่ไม่ใช่การประพันธ์กาพย์เห่เรือครั้งแรก ของชายวัย 75 ปี ดีกรีเปรียญธรรม 9 ประโยคท่านนี้

ย้อนกลับไป น.อ.ทองย้อยได้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ เพื่อใช้ในพระราชพิธีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาแล้ว 6 ครั้ง

Advertisement

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ที่ชนะการประกวดประพันธ์กาพย์เห่เรือ เพื่อใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม และเฉลิมฉลอง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

กระทั่งครั้งที่สอง ปี พ.ศ.2542 เขาได้รับความไว้วางใจจากกองทัพเรือเป็นต้นมา ให้ประพันธ์กาพย์เห่เรือ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

ครั้งที่สาม ปี พ.ศ.2546 เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเอเปค

ครั้งที่สี่ ปี พ.ศ.2549 เนื่องในการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ครั้งที่ห้า ปี พ.ศ.2550 เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

และครั้งที่หกปี พ.ศ.2555 เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ

 

เคล็ดลับประพันธ์กาพย์เห่เรือพระราชพิธี

น.อ.ทองย้อยเล่าว่า ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสแต่งกาพย์เห่เรือ ผมจะยึดหลักการ 3 ข้อคือ ฉันทลักษณ์ต้องเป๊ะ อย่างกาพย์เห่เรือจะประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ 4 บท นอกนั้นเป็นกาพย์ยานีสั้นยาวแล้วแต่จะพรรณนาความ ซึ่งสัมผัสนอก สัมผัสในต้องเป๊ะตามนั้น ต่อมาคือการใช้หลักภาษาให้ถูกต้อง อย่างพรรณนาถึงเรื่องไหน ต้องใช้คำให้ถูกกับเรื่องนั้น ตรงนี้ผมยังคิดเผื่อถึงผู้ขับร้องกาพย์เห่เรือ ในแง่การใช้คำที่ให้เสียงไพเราะเข้ากับเนื้อร้องเวลาเห่เรือด้วย ซึ่งแต่ละคำล้วนมีความหมายและอธิบายได้

“สำคัญที่สุดคือ การใช้จินตนาการที่ตั้งอยู่บนความจริง พรรณนาเรื่องราวออกมา ทำอย่างไรจะให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดความสนใจและรู้สึกสะเทือนใจ ก่อนจะนำผลงานต้นฉบับเก็บใส่ในลิ้นชัก ให้สมองลืมประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วนำกลับมาเปิดอ่านอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผมเห็นข้อควรปรับปรุงได้ดีกว่า”

ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ น.อ.ทองย้อยที่สามารถใช้ภาษาวรรณศิลป์ ให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังได้รู้สึกซาบซึ้งไปกับกาพย์เห่เรือ เจ้าตัวยังยกตัวอย่างด้วยการขับร้องกาพย์เห่เรือในบทสรรเสริญพระบารมี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ความตอนหนึ่งที่เคยประพันธ์ พร้อมความหมายอย่างน่าสนใจว่า

“วังทิพย์คือท้องทุ่ง ม่านงามรุ้งคือเขาเขิน ร้อนหนาวในราวเนิน มาโลมไล้ต่างรสสุคนธ์ ย่างพระบาทที่ยาตรา ยาวรอบหล้าฟ้าสากล พระเสโทที่ถั่งท้น ถ้าไหลรวมคงท่วมไทย”

น.อ.ทองย้อยกล่าวว่า ความข้างต้นพรรณานาถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปยังทุ่งนาป่าเขามากมาย เพราะนั่นคือวังของพระองค์ เป็นวังที่มีม่านธรรมชาติอย่างป่าเขาลำเนาไพรที่สวยงามโอบล้อม ส่วนน้ำอบน้ำปรุงเวลาสรงน้ำของพระองค์ ก็คือพระเสโทที่ทรงงานอากาศร้อนหนาวนั่นแหละ ต่อมาได้สมมุติถึงการเสด็จฯไปทรงงานต่างๆ ที่หากเอาย่างพระบาทที่ทรงเก้าไป มาต่อๆ กันตลอด 70 ปีครองราชย์ ต้องยาวรอบโลกแน่เลย และพระเสโทหยดจากการทรงงาน ซึ่งคนไทยคงได้เห็นจากพระบรมฉายาลักษณ์พระเสโทหยุดปลายพระนาสิก (จมูก) แล้ว หากน้ำพระเสโทของพระองค์รวมกันตลอด 70 ปีทรงครองราชย์ คงท่วมประเทศไทย

 

แรงบันดาลใจกาพย์เห่เรือชลมารค 2562

สำหรับกาพย์เห่เรือในพระราชพิธีหนนี้ น.อ.ทองย้อยประพันธ์ไว้ 3 บท ได้แก่ 1.สรรเสริฐพระบารมี 2.ชมเรือ และ 3.ชมเมือง ซึ่งเพียงพอจะขับร้องกาพย์เห่เรือได้พอดีกับเส้นทางเสด็จฯ จากท่าวาสุกรีถึงท่าราชวรดิฐ ระยะทาง 3.8 กิโลเมตร

น.อ.ทองย้อยกล่าวถึงแรงบันดาลใจการประพันธ์ว่า ในส่วนบทสรรเสริฐพระบารมี บทนี้ตั้งใจพรรณนาถึงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 10 แต่ด้วยพระองค์เพิ่งเสด็จฯ ครองสิริราชสมบัติได้ 4 ปี ถือว่ายังใหม่มาก ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เกิดในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงครองราชย์มา 70 ปี ซึ่งเป็นชีวิตทั้งชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ปัจจุบัน กาพย์เห่เรือบทนี้จึงต้องการถมให้เต็ม ถึงความรู้สึกการจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

“ผมเกิดในสมัยรัชกาลที่ 8 เป็นคนยุคเก่า ศึกษาเรื่องเก่า จึงมองภาพบรรยากาศเก่าๆ ออกว่า คนสมัยก่อนเขาสร้างบ้านสร้างเมืองกันมาอย่างไร แต่คนปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดมาในช่วงบ้านเมืองสงบสุขแล้ว ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจับดาบไปรบกับใคร อย่างทหารในปัจจุบันก็มีคนรุ่นใหม่มองว่าจะมีไว้ทำไม เสนอไม่ต้องเกณฑ์ทหารบ้าง ฉะนั้นกาพย์เห่เรือบทนี้จะทำให้เห็นว่า ประเทศไทยที่มีอยู่ทุกวันนี้มาได้อย่างไร การมีพระเจ้าแผ่นดินสำคัญอย่างไร”

“หากศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา จะพบว่ามีการแย่งชิงอำนาจเป็นว่าเล่น ประชาชนจะอกสั่นขวัญแขวนมากหากพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต บ้านเมืองจะระส่ำระสายไปหมด ทหารจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันไม่ให้ใครถือโอกาสฉวยชิงอำนาจ ฉะนั้นเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินทีนึง บ้านเมืองก็วุ่นวายทีนึง แต่ว่าของเราโชคดี เพราะใช้คำว่าสืบสันตติวงศ์ คือการสืบต่อจากพ่อสู่ลูก จากลูกสู่หลาน จากหลานสู่เหลน ก็จะไม่เกิดความระส่ำระสาย ดีที่ว่ารัชกาลที่ 10 ก็สืบต่อจากรัชกาลที่ 9 บ้านเมืองก็สงบสุข เป็นบุญของเราที่ไม่ต้องวุ่นวาย”

น.อ.ทองย้อยกล่าวอีกว่า 2.ชมเรือ เป็นบทที่ยึดบทเห่เรือเดิมๆ พรรณนาถึงความงามของเรือพระราชพิธีสลับกับจินตนาการ รูปแบบอาจไม่เปลี่ยนจากเดิมเท่าไหร่ เพราะเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ก็ลำเดิม จำนวนเรือพระราชพิธีก็ 52 ลำเท่าเดิม ฉะนั้นจะชมกี่ครั้งก็งามแบบนี้ อย่างชม “สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย” ก็ต้องทรงพู่ห้อยอยู่อย่างนั้น จะมีทรงพลาสติกห้อยก็คงไม่ได้ แต่จะเสริมด้วยจินตนาการ อย่างเรือคืออะไร เรือคือท่อนไม้ แต่ว่าดูสิเวลาจัดขบวนเรือเหมือนมีชีวิตนะ ก็เสริมไปว่า “ท่อนไม้ไร้ชีวี มีชีวิตคิดเหมือนเป็น” ก็ให้ลูกหลานรักษาไว้นะ ในโลกนี้มีหนึ่งเดียวนะ ใส่ไอเดียให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจ

“ฝรั่งแค่เห็นหัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ยังบอกว่า ‘Very Nice’ พยายามบอกว่าสวยงามเหลือเกิน ขณะที่คนไทยสมัยก่อนมองเป็นเรื่องของโบราณเก่าเก็บ ส่วนประเทศอังกฤษแม้จะเคยพยายามเลียนแบบจัดขบวนเรือพระราชพิธี แต่ความสวยงามก็เทียบกับขบวนพยุหยาตราชลมารคของไทยไม่ได้ ของเรานี่อลังกาล งดงามกว่า ฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะต้องศึกษา รักษาไว้ด้วย อย่าสักว่าชมแต่ความงดงามอย่างเดียว”

เช่นเดียวกับบทที่ 3 บทชมเมือง ซึ่ง น.อ.ทองย้อยบอกว่า กล่าวถึงวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ความมีน้ำใจของคนไทย

 

บทสรรเสริญพระบารมี

“ภาพรวมกาพย์เห่เรือในครั้งนี้ มีความพิเศษอยู่ที่บทสรรเสริญพระบารมี เพราะเป็นบทที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ ผมตั้งใจพรรณนาถึงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 10 และเปรียบการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์เหมือนดั่งรุ่งอรุณ เมื่อรัชกาลที่ 9 สวรรคต ความรู้สึกของประชาชนชาวไทยโศกเศร้าว้าเหว่ แต่เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ประดุงดั่งรุ่งอรุณ เหมือนตะวันขึ้น รู้สึกมีความหวัง ประเทศไทยจะรุ่งโรจน์ต่อไป ซึ่งผมถ่ายทอดออกมาเป็นบทสรรเสริญพระบารมีที่เต็มไปด้วยความสุข” น.อ.ทองย้อยกล่าว

จะเป็นอีกหนึ่งความงดงามของโบราณราชประเพณีนี้ ไม่เพียงความอิ่มเอิบทางสายตา ที่จะได้เห็นเรือพระราชพิธีมากมาย สลักลวดลายละเอียดวิจิตรตระการตา แต่หูและสมองยังจะได้รับฟังเรื่องราว ผ่านการขับร้องบทเห่เรืออันไพเราะ ดังกึกก้องสองฝั่งน้ำ เนื้อร้องบอกเล่าเรื่องราวทรงคุณค่า ให้ประชาชนชาวไทยได้รับรู้ ภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ถือเป็นความภาคภูมิใจของอดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ท่านนี้ ที่ได้มีโอกาสใช้ความสามารถที่มีรับใช้ชาติอย่างต่อเนื่อง

“คิดว่าคนเก่งกว่าผมมีอีกเยอะ ไม่ว่าจะคนในกองทัพเรือด้วยกันเอง หรือคนทั่วไป โดยเฉพาะศิลปินแห่งชาติที่มีอีกมากมาย แต่ด้วยความลงตัวของโอกาส วาสนา และความสามารถ จึงนำพาผมมาอยู่จุดนี้ จุดที่ได้ถวายงานรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งที่ 7 คนอาจไม่รู้จักผมก็ไม่เป็นไร แต่ผมก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำเป็นคนเบื้องหลัง ได้ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” น.อ.ทองย้อยเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ

 

สูงวัยอย่าง ‘น.อ.ทองย้อย’

แม้จะเกษียณอายุราชการมากว่า 15 ปีแล้ว น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ กองทัพเรือ ในวัย 75 ปี ก็ยังมีปฏิภาณไหวพริบฉับไหว สมองยังคงจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี เดินเหินได้คล่องแคล้ว ขับรถยนต์ไปใช้ชีวิตกับภรรยาสองคนก็ยังไหว

น.อ.ทองย้อยเล่าว่า ผมไม่เคยหยุดทำงาน ทุกวันนี้ยังคงค้นคว้าพระไตรปิฎกอยู่กับบ้าน ค้นหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามแฟนๆ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ทองย้อย แสงสินชัย” ที่ส่งคำถามเกี่ยวกับภาษาบาลีและเรื่องพระพุทธศาสนามาทุกวัน เพราะบางเรื่องผมก็ไม่รู้ ก็ต้องไปค้นคว้าให้รู้เพื่อตอบคำถามเขา เช่น

ถามว่าตักบาตรตอนเช้าแล้วลืมกรวดน้ำทันทีจะได้บุญหรือไม่ ก็ตอบว่าได้บุญเหมือนกัน อย่างแรกคือมีศรัทธา ลงมือทำ และทำสำเร็จ อย่างนี้ได้บุญแล้ว ส่วนมากรวดน้ำภายหลัง ก็เป็นบุญที่ได้อีกวิธีหนึ่ง แต่ได้บุญเหมือนกัน เป็นต้น นอกนั้นก็มีเขียนหนังสือภาษาบาลีวันละคำทางเฟซบุ๊ก เมื่อครบ 200 คำ ก็รวมเล่มพิมพ์เป็นหนังสือแจก รวมถึงการเข้าวัดทำบุญอยู่ตลอด การเดินออกกำลังกายละแวกบ้าน การกินที่พออยู่ กินที่ควรกิน และพักผ่อนให้เพียงพอ

“ผมมีหลักดำเนินชีวิตตามหลักธรรมะว่า ต้องประคองจิตใจตัวเองให้พอดี อย่าส่งใจไปตามที่เราเห็นแล้วถูกใจ หรือไม่ถูกใจอะไรแล้วโกรธฉุนเฉียว เพราะอารมณ์อย่างนี้เราต้องเจอเท่าไหร่ต่อวัน ฉะนั้นการวางใจให้นิ่ง จะทำให้ชีวิตมีความสงบและสุข” น.อ.ทองย้อยเล่าทิ้งท้าย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image