โบรกประมินกองทุนเอสเอสเอฟ ดึงดูดใจนักลงทุนหน้าใหม่ แต่ไม่ได้ดีเท่าแอลทีเอฟ

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่จะสิ้นสุดในปี 2562 เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวใหม่คือ Super Savings Fund หรือกองทุนเอสเอสเอฟ โดยมีเงื่อนไขแตกต่างจากแอลทีเอฟคือ กองทุนเอสเอสเอฟ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการลงทุน จึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท จากเดิมที่แอลทีเอฟ กำหนดให้ต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มขึ้น 30% จากเดิม 15% ทำให้สามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมกับวงเงินลดหย่อนภาษีจากกองทุนอื่นเพื่อการเกษียณแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปีภาษี แต่เงื่อนไขในการถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 10 ปี จากแอลทีเอฟเดิม 7 ปี ยังถือเป็นอุปสรรคสำหรับบุคคลที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่อาจจะตอบโจทย์นักลงทุนรุ่นใหม่ได้

“เพดานสูงสุดสามารถซื้อเพิ่มได้ 30% ทั้งเอสเอสเอฟ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) แต่ก็ยังล้อมด้วยเม็ดเงินใหญ่ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 แสนบาท ทำให้คนที่มีอัตรารายได้ระดับพื้่นฐาน มีโอกาสที่จะได้ลดหย่อนเพิ่ม 15% แต่คนที่ซื้อเต็มจำนวนไปแล้ว ก็จะได้ประโยชน์ทางภาษีน้อยลง เพราะกำหนดเพดานลดลงจากเดิม รวมอาร์เอ็มเอฟและแอลทีเอฟ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เหลือ 5 แสนบาท แต่ที่จะย้ำเป็นเรื่องของระยะเวลาที่เพิ่มเป็น 10 ปีวันชนวัน เพราะหากอายุ 45 ปีขึ้นไป จะขายไดก็อายุ 55-60 ปี ทำให้อุปสรรคใหญ่เป็นเรื่องของเวลาถือครอง”นายสุกิจกล่าว

นายสุกิจกล่าวว่า ในภาวะที่ดัชนีเคลื่อนไหวในระดับ 1,550 จุด ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมากทั้งในปี 2562-2563 ทำให้คาดว่าปี 2563 ดัชนีหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับฟื้นตัวขึ้นได้ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในปี 2563 ก็ยังเห็นโอกาสฟื้นตัวขึ้นทั้งเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลก ทำให้การลงทุนในขณะนี้ถือว่ายังคุ้มค่าอยู่ โดยเฉพาะการที่ได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการที่ประเมินว่าตลาดตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนต่ำ ทำให้ภาพรวมสถานการณ์ของตลาดหุ้นเองที่จะบังคับให้นักลงทุน ต้องเลือกลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น สำหรับตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่ขณะนี้ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากธนาคารกลางหลักทั่วโลก ออกมาใช้นโยบายด้านการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำได้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ยังเชื่อว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และในปี 2563 มองว่าผลตอบแทนจะปรับตัวลดลง สำหรับกลยุทธ์ที่แนะนำในการลงทุนคือ ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 จะเป็นจังหวะที่ดีของการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักร หรือกลุ่มที่ได้รับอานิสงค์จากปัจจัยโลก โดยเฉพาะจากการลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562 จึงแนะนำให้หาจังหวะเข้าลงทุนในหุ้นวัฏจักร ร่วมกับการเลือกกองทุนแบบเคลื่อนไหวตลอดเวลา และเน้นที่การลงทุนในหุ้น เพราะเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าได้

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า กองทุนเอสเอสเอฟเน้นหนักในเรื่องของการออม เพื่อให้เก็บเงินเอาไว้ใช้ในช่วงเกษียนอายุ ทำให้กองทุนเอสเอสเอฟ อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ตลาดทุนโดยตรงได้มากนัก เพราะแอลทีเอฟเดิมถือว่าตอบโจทย์การลงทุนในหุ้นมากกว่า เนื่องจากกำหนดให้ต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% จากสัดส่วนทั้งหมด แต่ตัวที่เพิมมาเป็นการลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น 30% ซึ่งจากเงื่อนไขก็อาจจะไม่ได้ดีเท่าแอลทีเอฟเดิมทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีกองทุนใหม่ออกมารองรับแอลทีเอฟที่จะหมดลงในสิ้นปี 2562 แต่เอสเอสเอฟถือว่าตอบโจทย์นักออมรุ่นใหม่ หรือบุคคลที่เริ่มต้นทำงาน เพราะสามารถลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น

Advertisement

“กองทุนแอลทีเอฟเดิม อาจจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับผู้ที่ฐานรายได้สูงมากกว่า เพราะกองทุนเอสเอสเอฟ ผู้ที่มีฐานรายได้ต่ำจะได้ประโยชน์มากกว่า ทำให้ต้องยอมรับว่าเอสเอสเอฟ ตอบโจทย์นักลงทุนและนักออมรุ่นใหม่ได้แน่นอน ซึ่งการถือครองที่มากกว่าของเดิม ก็อาจช่วยสร้างวินัยในการออมได้ดีมากขึ้น แต่เนื่องจากที่ผ่านมา จะมีเม็ดเงินไหลเข้าแอลทีเอฟปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพราะกำหนดให้เลือกลงทุนในหุ้น แต่กองทุนเอสเอสเอฟไม่ได้มีข้อกำหนดในการลงทุน จึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ได้ ทำให้เชื่อว่าการลงทุนในหุ้นอาจถูกลดทอนลง แต่จะลดมากน้อยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับนักลงทุน และผู้จัดการกองทุน แต่เบื้องต้นคาดว่าเงินที่ควรไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย คงหายไปอย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาทต่อปี” นายวิกิจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image