‘แคท’​ โวย ‘กสทช.’​ ถอดคลื่น 700 จากการประมูล

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เปิดเผยถึงกรณีที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ต้องการให้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G​ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีกำหนดจัดการประมูลขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์​ 2563 ใน 4 ย่านความถี่ ได้แก่ 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติอนุมัติในหลักการ ให้บริษัทสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ซึ่งหลังจากนี้ จะทำเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบจากกระทรวงดีอีเอส และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ ต่อไป

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว​จะควบคู่​ไปกับการให้ที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมว่า ควรจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่านใด และมูลค่าใดมีความเหมาะสม เพราะหากคลื่น​ความถี่​มีมูลค่าสูงเกินไป ก็ต้องพิจารณาว่าจะเข้าร่วมการประมูลได้หรือไม่ โดยคาดว่า ทุกอย่างจะได้ข้อสรุปในต้นเดือนมกราคม 2563

ขณะเดียวกัน​ บริษัทอยู่ระหว่างทำหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอคำชี้แจงในกรณีที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม มีมติถอดคลื่น​ความถี่​ย่าน 700 เม​กะ​เฮิรตซ์​จากการประมูล โดยอ้างว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เม​กะ​เฮิรตซ์​ ยังติดปัญหาการย้ายคลื่นความถี่ไมโครโฟน ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2564

“หากข้อมูลทั้งหมดเป็นไปตาม กสทช. ชี้แจง แล้วเหตุใดครั้งที่ผ่านมาจึงสามารถ​เปิดประมูล​ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเร​เตอร์)​ 3 รายได้ ซึ่งหากจะรอให้เกิดการย้ายคลื่นความถี่​ไมโครโฟนก็สามารถ​จัดให้มีการประมูลในครั้งนี้ได้ เพราะเมื่อจัดสรรคลื่น​ความถี่​เสร็จและแก้ปัญหาด้านความถี่ของโอเปอเรเตอร์​ 3 ราย บวกกับแคทอีก 1 รายไม่ต่างกัน ดังนั้น จึงเห็นว่า กสทช. ควรบรรจุคลื่นความถี่​ย่าน 700 เม​กะ​เฮิรตซ์​ ในการประมูลที่จะเกิดขึ้นตามเดิม” พ.อ.สรรพชัย กล่าว

Advertisement

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า สาเหตุที่แคทต้องการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจาก​คลื่น​ความถี่​ดังกล่าวเป็นคลื่นความถี่ที่ใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีสัญญาการให้บริการอยู่กับบริษั​ท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)​ หรือดีแทค ซึ่งจะช่วยให้ลดการลงทุน แต่ท้ายที่สุด หาก กสทช. ยังยืนยันว่า จะถอดคลื่นความถี่​ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์​ออกจากการประมูล แคทก็ต้องมาประชุมหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนความคืบหน้า​การควบรวบกิจการระหว่างแคท และบริษัท​ ทีโอที จำกัด (มหาชน)​ เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที นั้น คาดว่า น่าจะเกิดขึ้นไม่ทันการประมูลคลื่นความถี่ที่ กสทช. กำหนดไว้ เพราะหลังจาก ครม. มีมติให้ควบรวมกิจการ ตามกฎหมายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ในการดำเนินการ อาทิ การจัดการประชุมบอร์ด และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น จากนั้นจึงสามารถควบรวมกิจการ จัดตั้งบอร์ดผู้บริหาร และสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่

“ในอนาคตที่ต้องเกิดการควบรวมกิจการ จึงจำเป็นต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ เพื่อให้หลังปี 2568 เมื่อสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทั้ง 2 บริษัทถือครองอยู่ จะมีคลื่นความถี่สำหรับให้บริการต่อไป และรัฐวิสาหกิจอย่างเราสามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดเองได้” พ.อ.สรรพชัย กล่าว

Advertisement

ขณะที่​ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า หากแคทต้องการ​เข้าประมูล​คลื่น​ความถี่​ย่าน 700 เม​กะ​เฮิรตซ์​ และยอมรับได้ที่คลื่นความถี่​จะสามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2564 กสทช. ก็ยินดี​ที่จะนำคลื่นความถี่​ดังกล่าวออกประมูล โดยแคทสามารถ​ส่งหนังสือถึง กสทช. ได้ทันที จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่​ที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 24 ธันวาคม​ 2562 เพื่อพิจารณา​นำคลื่นความถี่​ย่าน 700 เม​กะ​เฮิรตซ์ออกมาประมูล​ตามเดิม

“ถ้าแคทมีความตั้งใจ​ที่จะเข้าประมูล​คลื่น​ความถี่​ย่าน 700 เม​กะ​เฮิรตซ์​ ให้ส่งหนังสือมาเลย อยากขายอยู่แล้ว เราอยากได้เงิน สาเหตุที่ถอดคลื่น​ความถี่​ย่าน 700 เม​กะ​เฮิรตซ์ออกจากการประมูล​ เนื่องจากไม่มั่นใจว่า จะมีโอเปอเรเตอร์​รายใดสนใจ เพราะ​คลื่นความถี่​ยังไม่พร้อมใช้งาน” นายฐากร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image