“เทพไท” วิเคราะห์ 10 ปัจจัย ปี 63 ที่รัฐบาล ”บิ๊กตู่” ต้องเผชิญ

ภาพส่วนหนึ่งจากทวิตเตอร์ Theptai

“เทพไท” วิเคราะห์ 10 ปัจจัย ปี 63 ที่รัฐบาล ”บิ๊กตู่” ต้องเผชิญ

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในปี 2563 ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของรัฐบาล ภายในปี 63 น่าจะเกิดจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่สั่งสมกันมาจนนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากปรากฎการณ์ดังต่อไปนี้

1. การอภิปรายพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปรงบประมาณ 63 ในวาระ2และวาระ3 ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 8-9 ม.ค.นี้ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการอภิปรายแปรญัตติ ถล่มงบประมาณของกระทรวงกลาโหม เพื่อดิสเครดิตกองทัพและรัฐบาล

2.การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบรายบุคคลของพรรคฝ่ายค้าน ในเดือนก.พ.นี้ หากสามารถเปิดแผลการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลได้ หรือมีใบเสร็จแสดงหลักฐานการทุจริตได้ชัดเจน ก็จะมีการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแน่นอน

3. การปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ของรัฐบาล อาจจะเกิดขึ้นก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อลดกระแสหรือตัดหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน หรืออาจจะมีการปรับครม.หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว เพื่อใช้โอกาสนี้ปรับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจออกไปบ้าง แต่ทางการเมือง ถ้ารัฐบาลชุดใดปรับครม.เกิดขึ้น ก็จะเป็นสัญญานการนับถอยหลังทางการเมืองทันที

Advertisement

4.จับตาท่าที และความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มพรรคเล็กที่รวมตัวกันมีจำนวน ส.ส.มากพอที่จะต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้ เช่น กลุ่มกิจสังคมใหม่ หรือพรรคเศรษฐกิจใหม่

5.เหตุการณ์การพิจารณาพิพากษาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และคดีอื่นๆอีกหลายคดี หากพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลตัดสินยุบพรรค จะต้องจับตา กลุ่มงูเห่า หรือการช้อนซื้อตัว ส.ส.เพื่อเข้าสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคขนาดเล็กเพื่อเพิ่มจำนวนส.ส.ให้เท่ากับโควต้ารัฐมนตรี

6.การนัดชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือแฟลชม็อบ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ว่าจะมีพลัง หรือสร้างแรงกดดันทางการเมืองได้หรือไม่

Advertisement

7.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะได้ข้อสรุปภายใน 180 วันตามกำหนด จะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง และจะมีแรงต่อต้านหรือสนับสนุนของมวลชนของแต่ละฝ่ายหรือไม่

8.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องของประชาชน ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ในรอบครึ่งปี หรือในไตรมาสที่2 จะมีผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด

9.การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะปีนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. ปีนี้ การแต่งตั้งผู้มาดำรงตำแหน่งแทนจะมีการจัดสรรดุลอำนาจได้ลงตัวหรือไม่หรือจะเกิดแตกแยก เกิดแรงกระเพื่อมในกองทัพหรือไม่

และ10. การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านครั้งที่2 ในรอบหนึ่งปี เมื่อถึงวันนั้นเสถียรภาพรัฐบาล อาจจะง่อนแง่น มีสภาพทางการเมืองบอบช้ำมาตลอดหนึ่งปี ก็จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่พรรคฝ่ายค้านจะเผด็จศึกรัฐบาลลงได้ในการส่งท้ายปี 2563

“ฉะนั้นตลอดปี 2563 สถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลก็จะได้รับแรงเสียดทานจากปัญหาการเมืองต่างๆนานา ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้เกมการเมือง หรือปลดล็อคปัญหาทางการเมืองออกไปได้ ก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะอายุของสภาผู้แทนราษฎรอยู่มาได้เกือบครบ 2 ปี ถ้าไม่มีการยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลโดยนายกฯ ก็ต้องลาออก เพื่อให้รัฐสภา โหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อบริหารประเทศต่อไป”เทพไท กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image