จาตุรนต์วิเคราะห์ 4 สัญญาณ การเมืองปี’63 ‘รัฐบาลล้มยาก แต่สภาพทรุดหนัก’

จาตุรนต์วิเคราะห์ 4 สัญญาณ การเมืองปี’63 ‘รัฐบาลล้มยาก แต่สภาพทรุดหนัก’

เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง นักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองผู้คร่ำหวอด โพสต์คลิปวิดีโอวิเคราะห์การเมืองไทยปี 2563

นายจาตุรนต์มองว่า เพียงระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีที่รัฐบาลเข้ามาบริหารอยู่ในสภาพเสื่อมลงอย่างรวดเร็วเกินคาด ซึ่งจากขึ้นหลายกรณี อาทิ ถวายสัตย์ไม่ครบและยังไม่ชัดเจน รัฐมนตรีขาดคุณสมบัติแต่ยังอยู่ในคณะรัฐมนตรีได้ ใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติระหว่าง ส.ส.ของรัฐบาลกับประชาชนทั่วไป รวมถึงประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างมาก จนทำให้เกิดหลายกิจกรรมซึ่งคาดว่าจะลุกลามมากขึ้น

นายจาตุรนต์วิเคราะห์ 4 สัญญาณการเมืองไทย ปี 2563 ดังนี้

1.อภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เตรียมวางขุนพลแล้ว ถ้าดูจากข่าวคราวที่สะสมมา เรื่องที่ฝ่ายค้านแย้มๆ ออกมา ก็คิดว่าอาจจะเขย่ารัฐบาลนี้ได้มาก เปิดแผลหรือทำให้คนเห็นปัญหาของรัฐบาลมากขึ้น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถตอบคำถามในรัฐสภาด้วยตนเอง รัฐบาลจะอยู่ในสภาพลำบาก แต่ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนนายกฯ ปีที่แล้วเขาทำให้เห็นแล้ว จากการแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำ ด้วยการซื้องูเห่าเข้ามา การอภิปรายนี้ เราจะได้เห็นงูเห่าเปิดเผยตัวกันมากยิ่งขึ้น

Advertisement

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจากฝ่ายค้านนั้น น่าจะทำให้ประชาชนรับข้อมูลมาก และอาจเป็นการเขย่าหรือเปิดแผลรัฐบาลได้มาก โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาพลำบากและเสื่อมทรุดไปอีก แต่อาจไม่ถึงขั้นทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้หรือต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ”

2.เสถียรภาพรัฐบาล ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีปัญหาสะสม คาดว่าปีนี้จะมีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา แล้วนำไปสู่ความไม่พอใจรัฐบาลสูงขึ้น ก็จะไปโยงกระแสไล่ลุง กระแสเบื่อนายกฯ และไม่ต้องการให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไป แต่ผมคิดว่าไม่น่าไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง และการชุมนุมไปสู่การล้มรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ ขึ้นอยู่กับเสียงในสภา ของรัฐบาลผสม ที่ดูแล้วพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังอยากเป็นรัฐบาลกันทั้ง และก็รู้อยู่แล้วว่าถ้าเลือกนายกฯใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังเป็นนายกฯอยู่ดี เพราะมีเสียง ส.ว.สนับสนุนถึง 250 เสียง

“ปีนี้จะมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาต่างๆ จนนำไปสู่ความไม่พอใจรัฐบาลสูงขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นการนำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือล้มรัฐบาลได้โดยง่าย”

Advertisement

3.ยุบพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านถูกทำลายอย่างหนัก เพราะรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ เคยทำลายตั้งแต่กติกาเลือกตั้ง จนถึงการซื้อตัวฝ่ายค้าน เร็วๆ นี้ ก็ยังไม่ทราบว่า พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่ ผมเคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้แล้วว่าการยุบพรรคการเมืองในอดีต เป็นการยุบที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย เป็นการยุบเพื่อแก้ปัญหาหรือจัดการปัญหาการเมืองของผู้มีอำนาจ ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองไม่ได้ผิด หรือผิดน้อย คราวนี้มีแนวโน้มว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ อาจแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล

และ 4.แก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เห็นแตกต่างกันไป บางส่วนอาจคิดว่ารัฐธรรมนูญเพิ่งมี จะไปรีบแก้ทำไม หรือคนที่เห็นปัญหา ก็คิดว่าจำเป็นต้องแก้ และจะต้องมีความพยายามต่อเนื่อง การตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ ดูจะมีความหวังน้อย เพราะการวางคนใน กมธ.วิสามัญฯ ของรัฐบาล ค่อนข้างวางคนที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเสียเลย มันก็จะยาก

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาตั้งแต่ต้น ไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เราได้รัฐบาลอย่างนี้ เป็นรัฐบาลที่แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ตรวจสอบผู้มีอำนาจไม่ได้ กลไกต่างๆ พร้อมจะอยู่เหนือรัฐบาล โดยเฉพาะถ้ามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเมื่อไหร่ กลไกเหล่านี้จะอยู่เหนือรัฐบาลนั้น เวลานี้ร่วมกันได้กับรัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนั่นเอง

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image