สกู๊ปหน้า1 : ตัดริบบิ้นคลินิกกัญชา 6 มกราฯ เปิดรักษาครบวงจร

“กัญชาทางการแพทย์” เป็นเรื่องที่คุ้นหูกันมาระยะหนึ่งแล้วในประเทศไทย

สำหรับปีที่ผ่านมา และศักราชใหม่ ปี 2563 ความก้าวหน้าของการแพทย์ที่ใช้กัญชาในการรักษาโรคจะมีความคืบหน้า ชัดเจนและมีเป้าหมายมากขึ้น

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคการเมืองที่บุกเบิกนโยบายกัญชาในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดตั้ง “คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย” ที่อาคารพิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี พร้อมเป็นประธานเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มกราคมนี้

นับเป็นครั้งแรกที่มีคลินิกกัญชาภายในกระทรวง และให้บริการครบวงจร มีทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันให้บริการวินิจฉัยอาการ และจ่ายยากัญชาให้แก่ผู้ป่วย

Advertisement

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย 22 แห่งทั่วประเทศ แต่คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยแห่งนี้ เป็นสาขาหลักที่จะรองรับผู้ป่วยที่เดิมอาจจะใช้ยาไม่ได้มาตรฐาน หรือยาใต้ดิน จะได้เปลี่ยนมาใช้ยาสูตรที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้บริการผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาที่ได้จากพืชกัญชา เพิ่มการเข้าถึงที่มากขึ้นในประชาชนทุกคน

หลักเกณฑ์ของผู้ที่จะเข้ารับบริการต้องเป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่แพทย์มีการวินิจฉัยแล้วว่าควรสั่งจ่ายยาจากสารสกัดกัญชา โดยผ่านการคัดกรอง คือ 1.ไม่เป็นผู้ที่แพ้น้ำมันกัญชามาก่อน 2.ไม่เป็นโรคจิตประสาทชัดเจน 3.ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในข้อบ่งชี้ในการห้ามใช้ยา

ระยะแรกจะเน้นในผู้ป่วยรายเก่าของ นายเดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน หรือที่รู้จักกันในชื่ออาจารย์เดชา เจ้าของสูตร “น้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา” เพื่อป้องกันการแพ้ยา ส่วนในผู้ป่วยรายใหม่ที่สนใจรับยานั้นสามารถลงทะเบียน กรอกประวัติข้อมูลและเข้ารับการคัดกรองอาการโดยแพทย์ได้

Advertisement

นพ.มรุตบอกว่า การนำพืชกัญชามาใช้เป็นยามี 2 ลักษณะหลัก คือ 1.สกัดเป็นน้ำมันในสูตรของอาจารย์เดชา ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำให้ใช้วิธีการหยดใส่ช้อนจำนวน 1-3 หยด ใช้รับประทานโดยตรง ทั้งนี้ปริมาณหยดที่ใช้ขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมของการรักษาโรคโดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยปริมาณให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ในการเริ่มต้นของการใช้ยาระยะแรกอาจจะให้ใช้ 1 หยด และอาจเพิ่มปริมาณขึ้นไปตามความเหมาะสม ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีและเหมาะสมที่สุด เนื่องจากการรับประทานเข้าสู่ร่างกายผ่านการดูดซึมของลำไส้จะให้ผลลัพธ์ที่ดีและเห็นผลชัดเจน แต่บ้างก็จะมีการใช้หยดใต้ลิ้นในกรณีที่มีความต้องการให้ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว

2.บดเป็นผง ในการรักษา 16 ตำรับแผนไทย เช่น ตำรับศุขไสยาสน์ ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร ตำรับทำลายพระสุเมรุ บรรเทาอาการแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง และอาการชาในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต วิธีการใช้คือ การนำผงบดกัญชาไปผสมกับน้ำต้มอุ่น ใช้ดื่ม

“ในการใช้งานนั้น จะต้องพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย เช่น การปวดหัวโรคไมเกรนข้างซ้ายหรือข้างขวา โดยน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชาที่มีการรักษาในผู้ป่วยเก่า แนะนำให้สามารถใช้หยดใส่หูข้างที่ปวดไมเกรนได้ด้วย แต่ในส่วนของการใช้น้ำมันกัญชาที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำคือ การหยดใส่ช้อนและรับประทานโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลดีอยู่แล้ว หากมีการเจ็บป่วยมา ก็พร้อมจะช่วยเหลือเต็มที่ แต่ถ้าไม่ได้เจ็บป่วย แค่อยากจะลองเฉยๆ ก็เป็นเรื่องที่ทางแพทย์ผู้ให้บริการลำบากใจ เนื่องจากยังเป็นหนึ่งในสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ดังนั้น การเข้ารับการรักษาในคลินิกจะมีการโทรศัพท์ติดตามผู้ป่วย เพื่อดูว่าเมื่อได้ใช้ยาแล้วมีอาการดีขึ้นหรือไม่ ตอบสนองต่อยามากน้อยแค่ไหน หากผู้ที่ไม่ป่วยแล้วจะมาขอยานั้น ก็เป็นเรื่องที่ให้ไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่คนที่เข้ารับบริการ จะเป็นคนที่ผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ มีความวิตกกังวล อ่อนเพลีย ปวดมึนศีรษะ มีภาวะกลุ่มอาการที่นอนไม่หลับ สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ได้ เพื่อพิจารณาการให้ยา” นพ.มรุตกล่าว

นพ.มรุตกล่าวว่า ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการคลินิกฯ จะบริการวันละ 6 รอบ ตามช่วงเวลา รอบที่ 1 เวลา 08.30-09.30 น. รอบที่ 2 เวลา 09.30-10.30 น. รอบที่ 3 เวลา 10.30-12.00 น. รอบที่ 4 เวลา 13.00-14.00 น. รอบที่ 5 เวลา 14.00-15.00 น. และรอบที่ 6 เวลา 15.00-16.00 น. ระหว่างวันที่ 6-17 มกราคมนี้จะมีการเปิดบริการเต็มอัตรา รองรับผู้ป่วยวันละ300 ราย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับจำนวนผู้ป่วยที่สนใจ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลและดูแนวโน้มของผู้เข้ารับบริการ ซึ่งภายหลังจากการเปิดให้บริการในช่วงแรกผ่านไปแล้ว คลินิกฯ ตั้งเป้ารองรับการรักษาผู้ป่วยวันละ 100 ราย มีแพทย์แผนไทยประจำคลินิก วันละ 5-10 คน และแพทย์แผนปัจจุบันวันละ 2-3 คน โดยขณะนี้ยากัญชาที่ใช้ สกัดมาจากกัญชาที่รับมอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และบริการในช่วงแรกจะยังไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด

นพ.มรุตกล่าวว่า วันแรกของการเปิดคลินิกฯ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้พบกับอาจารย์เดชา และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. และแพทย์ผู้เกี่ยวข้องในการใช้กัญชารักษาทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งสามารถให้ความรู้ สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยได้ พร้อมทั้งสามารถลงทะเบียน กรอกประวัติเบื้องต้น และนัดวันที่สะดวกเข้ารับบริการล่วงหน้าผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนระบบ Android “Dr.Ganja in TTM กัญชาทางการแพทย์แผนไทย”

ส่วนระบบ IOS สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://abdul.dtam.moph.go.th/appointment/register/book_login.php ขณะนี้ข้อมูลวันที่ 4 มกราคม เวลา 12.00 น. จำนวนผู้ลงทะเบียน 1,412 คน เฉพาะวันที่ 6 มกราคม 368 คน ซึ่งเกินจากจำนวนที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดให้บริการวัน ละ 300 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากการดำเนินการบนระบบออนไลน์ ไม่ตรงตามแผนที่กำหนดไว้ว่าจะต้องเปิดให้บริการจองคิวผ่านระบบเพียง 200 ราย และสำรองคิวไว้สำหรับผู้ที่เดินทางไปในวันทำการอีก 100 ราย แต่ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดการบริหารเวลาสำหรับการรักษาในกรณีนี้คือ รอบที่ 1 เวลา 08.30-09.30 น. จำนวน 116 ราย และชั่วโมงต่อไปอีกชั่วโมงละ 50-60 ราย ลดหลั่นกันไป พร้อมจัดทำสมุดสำหรับผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อความสะดวกรวดเร็ว

“เมื่อประชาชนเข้าถึง ก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์ เพราะวันนี้ ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ตามโรงพยาบาลต่างๆ แม้จะมีความมั่นใจ แต่ไม่ใช่ทุกคน จึงอยากให้เห็นว่าผลงานที่ทำกันมา ได้ผลอย่างไร ที่สำคัญ คลินิกฯ นี้ จะเก็บจำนวนผู้ป่วยสรุปเป็นข้อมูลส่งให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาต่อไป” นพ.มรุตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image