คลังเผยประชาชนแห่กู้3หมื่นล.ใช้หนี้นอกระบบ เตรียมนำข้อมูลมาวิเคราะห์

 

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังรอข้อมูลการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ในเดือนธันวาคม เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงการให้สินเชื่อดังกล่าวเพื่อดูว่าควรจะปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ที่ผ่านมายอดการปล่อยสินเชื่อเติบโตทุกเดือน 4-5%

“พิโกไฟแนนซ์ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ สามารถมากู้เงินถึง 1 แสนบาท สามารถกู้ได้ทั้งแบบที่มีหลักประกันและแบบไม่มีหลักประกัน ซึ่ง สศค.กำลังติดตามถึงการปล่อยกู้ดังกล่าว เพราะจุดประสงค์พิโกไฟแนนซ์เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และหวังให้เงินกู้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้ารวมการปล่อยกู้พิโกไฟแนนซ์กับสินเชื่อฉุกเฉินของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบว่าสามารถปล่อยกู้ไปแล้ว 7.8 แสนราย เป็นเงินกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท” นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้การแก้หนี้นอกระบบที่ให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินจากธนาคารออมสินและธ.ก.ส. พบว่ามีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการอนุมัติสินเชื่อสะสมรวม 623,214 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,362.22 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 577,505 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,390.78 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบจำนวน 45,709 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,971.44 ล้านบาท

Advertisement

นายพรชัยกล่าวว่า ทั้งนี้ ยอดการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ตัวเลขจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 160,596 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 4,245.20 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,434.03 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 79,921 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 2,310.25 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.42 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 80,675 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,934.95 ล้านบาท หรือคิดเป็น 45.58% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม โดยพบว่ามียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 82,946 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,257.05 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวมจำนวน 10,422 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 306.63 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.59% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (เอ็นพีแอล) สะสมรวมจำนวน 9,584 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 269.34 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.93% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

นายพรชัยกล่าวต่อว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีจำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์ และประเภทพิโกพลัส โดยในส่วนสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,254 ราย ใน 76 จังหวัง โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 110 ราย กรุงเทพมหานคร 96 ราย และขอนแก่น 65 ราย ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบธุรกิจได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 619 ราย ใน 68 จังหวัด และได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อแล้วจำนวน 611 ราย ใน 68 จังหวัด

นายพรชัยกล่าวต่อว่า ส่วนสินเชื่อประเภทพิโกพลัสมีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิ 121 ราย ใน 46 จังหวัด ประกอบด้วย นิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมซึ่งได้รับใบอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบอนุญาตเป็นสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 78 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขอใหม่จำนวน 43 ราย ใน 22 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้วจำนวน 15 ราย ใน 8 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 12 ราย ใน 7 จังหวัด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image