ชี้ 6 ช่องโหว่จากมติ ครม.จัดการปัญหาวิกฤตฝุ่นพิษPM2.5

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมโพสต์ 6 ช่องโหว่จากมติ ครม.จัดการปัญหาวิกฤตฝุ่นพิษPM2.5

วันที่ 22 มกราคม นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat ระบุว่า ข้อสังเกตมาตรการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขฝุ่นPM 2.5ในช่วงวิกฤติตามมติ ครม.วันที่21มกราคม 2562

1.มาตรการฯส่วนใหญ่เน้นให้ความสำคัญพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก ส่วนพื้นที่อื่นๆของประเทศให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยโดยเฉพาะไม่มีมาตรการเข้มงวดใดๆในพื้นที่9จังหวัดภาคเหนือ

2.ไม่มีมาตรการฯที่ชัดเจนในเรื่องการลดการเผาไร่อ้อยซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงโดยรอบเขตกรุงเทพและปริมณฑล มติครม. กำหนดให้แต่พื้นที่ออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติของท้องถิ่นในการควบคุมการเผาขยะ หญ้า พืชไร่ พืชสวน ตอซังฟางข้าวในช่วงวิกฤติ ซึ่งกลับไปขัดแย้งกับมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลของกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 3พฤศจิกายน 2562 ที่ยินยอมให้โรงงานรับซื้ออ้อยไฟไหม้ได้ร้อยละ50ของปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงานทำให้เกิดการเผาไร่อ้อยปล่อยหิมะดำจำนวนมากในขณะนี้ อย่างไรก็ตามหากท้องถิ่นเคร่งครัดในมติ ครม.ดังกล่าวก็จะต้องจับกุมดำเนินคดีชาวไร่อ้อยที่ทำการเผาและปรากฏการณ์ไฟไหม้ไร่อ้อยต้องหมดไปเร็วๆนี้

Advertisement

3.มติ ครม.กำหนดไม่ให้มีการเผาในที่โล่งใน กทม .และต้องบังคับกฏหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำการเผา ดังนั้นการจุดธูปจุดเทียน การเผากระดาษเงินกระดาษทองใดๆในช่วงวันตรุษจีนที่จะถึงจะต้องกระทำภายในอาคารเท่านั้น ห้ามนำไปกระทำในที่โล่งกลางแจ้งเด็ดขาด กทม.จะดูแลตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

4.มติครม.ขอความร่วมมือภาคราชการ ภาคเอกชนและประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐควรจะมีมาตรการสนับสนุนเพื่อจูงใจประชาชนด้วย เช่น พิจารณาลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ถูกลงหรือจัดรถ ขสมก.บริการให้ฟรีในบางเส้นทางหรือมีรถบริการรับส่งฟรีระหว่างชุมชนกับสถานีรถไฟฟ้า

5.เนื่องจากปัญหาฝุ่นPM2.5 ในหลายปีที่ผ่านมารวมทั้งปีนี้ด้วยจะเกิดภาวะวิกฤติในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ดังนั้นภาครัฐจึงควรนำมาตรการที่ยกระดับนี้มาใช้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นเดือนมกราคมจนสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีค่าฝุ่นสูงจนเกิดวิกฤติก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการแบบปีนี้

Advertisement

6.ควรมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคของกระทรวงทรัพยากรฯทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่ถูกกำหนดให้ทำหน้า ที่ตามมติครม.หากพบว่าเกิดการหย่อนยานหรือละเว้นการปฏิบัติตามมติครม.ดังกล่าว ก็ให้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image