ลุ้นส่งออกอาหารปีนี้ฝ่าปัจจัยเสี่ยงแตะ1ล้านล้านบาท

ส่งออกอาหารปีนี้ฝ่าปัจจัยเสี่ยงหวังตรึงเป้า1ล้านล.บาท ปี62 เจอพิษบาทแข็งหดตัว3.8%

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการส่งออกอาหารปี2562 และเป้าหมายปี 2563 จัดทำข้อมูลโดย 3 องค์กร ประกอบด้วย สถาบันอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ว่า แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยปี 2563 ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกราว 34,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.4% ส่วนในรูปเงินบาทคาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 1,022,610 – 1,061,000 ล้านบาท มีโอกาส -0.3-3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ คาดจะขยายตัว 3.4% และค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้  2 ทิศทาง ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ระหว่าง 29.30 – 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ กลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัว ได้แก่ ข้าว ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง เครื่องปรุงรส มะพร้าว สับปะรด และอาหารพร้อมรับประทาน ส่วนที่คาดว่าจะลดลง คือ น้ำตาลทราย

นางอนงค์กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2563 ได้แก่  เศรษฐกิจโลกในปี 2563  ค่อยๆฟื้นตัวจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ลดความตึงเครียดลง และจีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อังกฤษออกจากยุโรป(เบร็กซิท) เพราะจะเกิดความไม่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์สินค้า เงื่อนไขการค้า

นอกจากนี้ยังมีภัยแล้งจะกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบในประเทศลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น กระทบต้นทุนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และสินค้าอาหารของไทยบางรายการได้รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษี(จีเอสพี) โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจำพวกพาสต้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกี๊ยว รวมทั้งภัยคุกคามจากการขยายตัวของสินค้าอาหารที่ผลิตจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ ที่มีต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล

Advertisement

“การที่ค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง จึงอาจเป็นได้ทั้งปัจจัยสนับสนุน หรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ มีแนวโน้มอ่อนค่าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนผ่อนคลายลง ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในเงินบาท  และอาจแนวโน้มแข็งค่าขึ้นหากเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง โดยค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าส่งออกอาหารไทยเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 35,000 ล้านบาท”นางอนงค์กล่าว

นางอนงค์กล่าวว่า สำหรับการส่งออกอาหารของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 1,025,500 ล้านบาท หรือ 33,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 3.8% ในรูปเงินบาท แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 401,300 ล้านบาท ลดลง 0.1% ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินบาท และราคาอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ฉุดมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยให้ลดต่ำลง
ขณะที่ภาพรวมการค้าอาหารโลกในปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 1.318 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ 0.6%

“ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หรือลดลง 2% การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.8% ลดลงจาก 58.7 ในปีก่อน  เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือนลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการส่งออกหดตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า และราคาส่งออกสินค้าอาหารที่ลดลงกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ”นางอนงค์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image