กรอ.จับมือกฟผ.ตั้รง.ต้นแบบกำจัดซากโซลาร์-แบตอีวีใน1ปี

กรอ.จับมือกฟผ.ตั้รง.ต้นแบบกำจัดซากโซลาร์-แบตอีวีใน1ปี

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยภายหลังลงนามความร่วมมือ“โครงการศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย” กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า จะบูรณาการความร่วมมือบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศ ตั้งโรงงานกำจัด เนื่องจากรัฐบาลมีแผนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ 15,574 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ภายในประเทศ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 จะทำให้เกิดซากเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบ และซากแบตเตอรี่อีวีจำนวนมาก ขณะที่ปัจจุบันไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่อย่างเป็นระบบและครบวงจร ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาเซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี คาดว่าปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาเซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600

นายประกอบ กล่าวว่า หากไม่วางแผนจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และยังเป็นอุปสรรคต่อแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยในปัจจุบันไทยมียอดสะสมซากแบตเตอรี่อีวี 1.3 พันตัน ส่งออกไปกำจัดในต่างประเทศทั้งหมด อาทิ ญี่ปุ่น เบลเยียม สิงคโปร์ ซึ่งการกำจัดซากโซลาเซลล์และแบตเตอรี่อีวีนอกจากจะป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม เศษซากยังกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้จำนวนมาก

“พื้นที่เหมาะสมตั้งโรงงานกำจัดโซลาเซลล์ จะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งที่ใช้โซลาเซลล์สูง อาทิ พื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ติดตั้งโซลาเซลล์จำนวนมาก อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งจากสำรวจพบว่าภาคกลางเป็นพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มากที่สุด 1,750 เมกะวัตต์ รองลงมาเป็นภาคเหนือ 626 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 465 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 41 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 2,882 เมกะวัตต์”นายประกอบกล่าว

Advertisement

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้แบตเตอรี่ทั้งจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอีวี เติบโตรวดเร็ว กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายให้ กฟผ. ศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่หลังสิ้นสภาพใช้งาน โดยความร่วมมือมีวัตถุประสงค์แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะ และแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อศึกษาความความเหมาะสมในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศ โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม

นายพัฒนา กล่าวว่า ขอบเขตความร่วมมือ กรอ.สนับสนุนข้อมูล ได้แก่ 1.ข้อมูลแนวโน้มซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย 2.ข้อมูลจากการพิจารณาแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม และ 3.ข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย

ขณะที่ กฟผ.จะรับผิดชอบ 1.ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้กับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย 2.ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ควบคู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรมตามข้อมูล กรอ. และ3.ศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจสามารถนำมาบูรณการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทยความร่วมมือระหว่าง กรอ. และ กฟผ. ในครั้งนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image