ภาพเก่าเล่าตำนาน : ทหารซามูไร..รอดตายในแม่ฮ่องสอน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

….ต่อเนื่องและขยายความ จากบทความตอนที่แล้วนะครับ…

ประวัติศาสตร์ช่วงเวลาที่สำคัญ ลูกหลานไทยควรได้รับทราบ คือ ทหารญี่ปุ่น “นับหมื่นนาย” ที่เคลื่อนไหว ไป-มา เกือบ 4 ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2484-2488 ในพื้นที่ อ.ขุนยวม และอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชาวแม่ฮ่องสอนในช่วงเวลานั้น คือ กัลยาณมิตร ผู้โอบอ้อม ให้ที่พักพิง อนุเคราะห์ ดูแลทหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะทหารที่บาดเจ็บจากการรบจำนวนมหาศาล รวมทั้งใช้แผ่นดินแม่ฮ่องสอน “ฝังร่าง” ของพวกเขา

สัมพันธภาพอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้น ในยามที่ทหารญี่ปุ่นกำลังจะ “แพ้สงคราม” ทหารจากแดนอาทิตย์อุทัยต้องถอยทัพ ทหารบาดเจ็บ เจ็บป่วย หนีตาย ออกมาจากป่าดินแดนพม่า ข้ามพรมแดนเข้ามาพักอาศัย รักษาพยาบาล ฟื้นฟูกายใจ ใน “เมืองสามหมอก”

Advertisement

นับเป็นความทรงจำที่ดีงามตลอดมาจนถึงทุกวันนี้…

แม่ฮ่องสอน ในอดีต.. พอได้ยินชื่อ จะบังเกิดความวาบหวิว มีภาพของความห่างเหิน กันดาร ลังเลทั้งกาย-ใจ ที่จะเดินทางไปเยือน ถ้าเป็นข้าราชการจากส่วนกลางย้ายไป ก็ต้องฝืน ทำใจให้ได้…

หากแต่ปัจจุบัน แม่ฮ่องสอน คือ สุดยอดเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นด้วยสภาพภูมิประเทศในหุบเขาสูงสลับซับซ้อน และมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งปีจนได้รับฉายาว่า “เมืองสามหมอก” จากเมฆหมอกที่มีครบทั้ง 3 ฤดู

Advertisement

แม่ฮ่องสอน อากาศบริสุทธิ์ เย็นสบายเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว และยังมีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมจากชนเผ่ากลุ่มน้อยและชาวพื้นเมืองเหนือ จึงเป็นดินแดนในฝันของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศแม้จะมีเส้นทางที่คดเคี้ยวและต้องผ่านเขาสูง

ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ จากหลายประเทศ แย่งกันจองที่พัก เพื่อขอไปดื่มด่ำ สัมผัสดินแดนที่งามดังสวรรค์บนดิน อันเปรียบได้กับสวิตเซอร์แลนด์แดนเทพเนรมิต

ขอนำท่านผู้อ่านย้อนอดีต ไปที่แม่ฮ่องสอน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเพ่งความสนใจไปที่ “อำเภอขุนยวม” ครับ…

ณ ช่วงเวลา พ.ศ.2484-2488 แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ภูมิประเทศสำคัญ ให้ทหารญี่ปุ่น “นับหมื่นนาย” ที่ใช้เป็นเส้นทางรุกเข้าสู่ดินแดนพม่า…

ก่อนทำสงคราม กองทัพลูกพระอาทิตย์ส่งสายลับจำนวนมาก เข้ามาทำงานหาข่าวในสยามเหนือจรดใต้ แบบทะลุปรุโปร่ง ..แพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ คือ มือทำงานข่าวให้กองทัพ

กองทัพญี่ปุ่นอันดุดัน วางแผนบุกเข้าสู่พม่า ไปสู่ อินเดีย จีน มีการสร้างเส้นทางเดินทัพในจังหวัดเพื่อ ผ่านไปพม่า 2 เส้นทาง คือเส้นทางแม่มาลัย-ปาย-แม่ฮ่องสอน-ขุนยวม และเส้นทางแม่แจ่ม-ขุนยวม-ต่อแพ-ห้วยต้นนุ่น

กองทัพญี่ปุ่นคิดการใหญ่ จะมุ่งไปทางทิศตะวันตกของพม่า เพื่อเข้าสู่ประเทศอินเดีย แต่ยุทธภูมิที่เมืองอิมพาล (Impal) และโคฮิมา (Kohima) ของอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนพม่าไปราว 100 กิโลเมตร เพราะตรงนั้นมีทหารอังกฤษปกครองอยู่

ในการเดินทัพเข้าดินแดนพม่า ญี่่ปุ่นได้ใช้ ช้าง ม้า วัว เกวียนของชาวแม่ฮ่องสอน ในการขนอาวุธยุทโธปกรณ์ และสัมภาระทั้งปวง โดยจ่ายเงินชดเชยให้ ญี่ปุ่นไม่เอาเปรียบ ไม่รังแกชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอน

รถยนต์บรรทุกทหาร กองทัพญี่ปุ่นนำมาเอง และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อยที่ชาวบ้านในแม่ฮ่องสอนได้มีโอกาสเห็นรถบรรทุก

ช่วงที่รุกเข้าพม่า ต่อไปอินเดีย กองทัพซามูไรอันเกรียงไกร “เจอของแข็ง” ถูกกองกำลังผสมของอังกฤษและอินเดียตีกระหนาบในป่า ทำสงครามกองโจร สูญเสียทหารราว 75,000 นาย..รุกต่อไม่ไหว

กลางปี พ.ศ.2487 กองทัพทหารเลือดซามูไร ได้รับคำสั่งให้ล่าถอยกลับเข้ามาในเขตประเทศไทย มีทหารญี่ปุ่นจำนวนหลักหมื่นนาย จากสนามรบในพม่าหนีตาย ถอยกลับเข้ามาในเขต อ.ขุนยวม และอีกหลายพื้นที่ในแม่ฮ่องสอน

นี่คือ เหตุการณ์สำคัญ ในแม่ฮ่องสอนที่ควรสนใจ

ผู้เขียนขออ้างอิงงานทางวิชาการ (บางส่วน) จากวารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 32(1): มกราคม-มิถุนายน 2556 บทความ ใครเป็น “เจ้าของ” มรดกวัฒนธรรมสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ อ.ขุนยวม แม่ฮ่องสอน? โดยคุณรัศมี ชูทรงเดช มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งท่านค้นคว้า เรียบเรียงไว้ดังนี้ครับ…….

“….มีการปะทะที่รุนแรงที่เมืองอิมฟาลและโกฮิมา ระหว่างเดือนเมษายน มิถุนายน พ.ศ.2487 ทําให้กองกําลังญี่ปุ่นต้องถอยร่นกลับมาประเทศไทย ตามเส้นทางเดิม จากบ้านห้วยต้นนุ่น-บ้านต่อแพ-ขุนยวม ทหารญี่ปุ่นที่บาดเจ็บและเจ็บป่วยถูกลําเลียงเข้ามา รักษาที่อําเภอขุนยวม และช่วงที่ญี่ปุ่นใกล้ยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2488 มีทหาร จํานวน 25,000 คน เข้ามาในอําเภอขุนยวม

สําหรับระยะเวลาในการถอยทัพจากพม่าผ่านขุนยวม-อําเภอเมืองแม่ฮ่องสอน-ปายเชียงใหม่ ทหารญี่ปุ่นใช้รถยนต์ รถบรรทุก ม้าต่าง วัวต่าง ช้างในการนําเครื่องมือ เครื่องใช้และ อาวุธยุทโธปกรณ์กลับมาด้วย รวมใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 7-8 เดือน…”

แน่นอนที่สุด…ในช่วง แตกพ่าย มีทหารญี่ปุ่นจำนวนมาก ตายและถูกฝังตามเส้นทางแม่มาลัย จ.เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

สำหรับยามศึกสงคราม พื้นที่วัด คือ พื้นที่อเนกประสงค์

วัดใน อ.ขุนยวม และบ้านเรือนของชาวบ้านแทบทุกหลัง มีทหารญี่ปุ่น เข้ามาขออาศัยอยู่ด้วย ทหารบาดเจ็บ และไม่บาดเจ็บนับพัน นับหมื่น ที่ข้ามเข้ามาในดินแดนแม่ฮ่องสอนได้ เสมือนตายแล้วเกิดใหม่

พื้นที่ใน อ.ขุนยวม ถูกสถาปนา “เขตปลอดภัย” กองทัพญี่ปุ่นตั้งโรงพยาบาลสนาม จัดหาอาหาร น้ำ น้ำมัน จัดตั้งห้องพิมพ์ธนบัตร

กองทัพบกญี่ปุ่นบอบช้ำ สูญเสียอย่างหนัก กำลังเดินหน้าไปสู่ความพ่ายแพ้

ชาวบ้านใน อ.ขุนยวม ให้ความช่วยเหลือทั้งที่พัก อาหารการกินและรักษาทหารบาดเจ็บ ทั้งๆ ที่ยากจน อันเป็นที่ซาบซึ้งใจของบรรดาทหารญี่ปุ่น ชาวบ้านขาย แบ่งปัน เครื่องอุปโภค บริโภค และข้าวสารให้ทหารญี่ปุ่น

ทหารเสนารักษ์ของญี่ปุ่น ได้เข้าพำนักอยู่ในหมู่บ้านใน อ.ขุนยวมและในวัดต่างๆ เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วย ก็ได้ทหารญี่ปุ่นที่เป็นหมอ ช่วยดูแล มันคือช่วงระยะเวลาที่ตกทุกข์ได้ยากร่วมกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทหารจากแดนอาทิตย์อุทัยและชาว อ.ขุนยวม เป็นดั่งพี่น้อง

วัดม่วยต่อ อ.ขุนยวม มีพื้นที่กว้างขวาง กลายเป็นพื้นที่สำคัญ ได้ถูกดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนาม และมีทหารญี่ปุ่นจำนวนมากที่เสียชีวิตที่วัดนี้

บทความทางวิชาการ ข้างต้นยังระบุว่า…

“…จํานวนของทหารที่เสียชีวิต และตําแหน่งที่ถูกฝังเป็นข้อมูลที่สําคัญเกี่ยวกับแหล่ง โบราณคดีประเภทหลุมฝังศพ ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ ไข้ป่า ไข้มาเลเรีย และโรคบิด จากบันทึกของทหารญี่ปุ่นชื่อคาซูโยชิ วาด้า เล่าเกี่ยวกับจํานวนทหารที่เสียชีวิตว่า….ข้าพเจ้าได้ไปร่วมรบและได้ถอยทัพตามแนวชายแดนพม่าและไทย เข้ามาที่อําเภอขุนยวม ปลายเดือนกรกฎาคม 2488 ในตอนนั้นเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะเป็นโรคมาลาเรีย ไข้ป่า และบิด.. ทหารญี่ปุ่นเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นจํานวนมาก ประมาณว่าในอําเภอขุนยวม มีทหารญี่ปุ่นที่ตายประมาณ 7,000 คน…”

หลังสงครามยุติ ทหารญี่ปุ่นที่เคยได้มาพักพิง รอดตาย ใน อ.ขุนยวม ยังแวะมาเยือนวัดม่วยต่อ

อดีตทหารญี่ปุ่น ชื่นชมเสมอว่า ในเวลานั้น ถึงแม้ชาวบ้านจะยากจน แต่ก็มีน้ำใจต่อทหารญี่ปุ่น และทหารญี่ปุ่นก็ได้มอบสิ่งของตนเองแลกเปลี่ยนให้แก่ชาวขุนยวมที่ได้ช่วยเหลือพวกเขาด้วยเช่นกัน

ขุนยวม ยังมีสิ่งของ เครื่องใช้ ซากยานพาหนะ ของทหารญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากที่ถูกทิ้งไว้….

ลองมาซอกแซก เรื่องราว รักระหว่างรบ ที่เกิดขึ้นและยังคงเป็นเรื่องที่จดจำกันมาจนถึงทุกวันนี้..ณ อำเภอขุนยวม ที่ทหารหนุ่ม-หญิงสาว ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษามาพบรักครับ…

สิบเอก ฟูคูดะ ฮิเตียว เป็นหนึ่งในทหารญี่ปุ่นที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ถูกลำเลียงออกมาจากดินแดนพม่า

นายปั๋น จันทสีมา หมอสมุนไพรพื้นบ้าน ให้การดูแลรักษา โดยมีนางสาวแก้ว จันทสีมา ที่เป็นลูกสาวช่วยดูแลอยู่ไม่ห่าง

ความใกล้ชิด เห็นอกเห็นใจ และเสน่ห์ตรึงใจของสาวขุนยวม จึงกลายเป็นสัมพันธภาพพิเศษ และฟูมฟักก่อตัว วันแล้ว วันเล่า เป็น “ความรัก”

ทหารซามูไรที่รับบาดเจ็บนายนี้ ได้รับการรักษาจากนายปั๋นจนหายดี โดยมี “สาวแก้ว” เป็นผู้ดูแล ในที่สุด ทั้งคู่ก็ตัดสินใจครองรัก ครองเรือนแบบเปิดเผย มีพยานรักเป็นบุตรชาย 2 คน

เรื่องราวตรงนี้ ไม่หวานซึ้งตรึงใจเหมือนละครหลังข่าว หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามทางการญี่ปุ่นได้รับตัวสิบเอก ฟูคูดะกลับไป

ส่วนข้อมูลอีกด้านหนึ่งระบุว่า… สิบเอก ฟูคูดะ พยายามหลบหนีการจับกุมเพื่อนำตัวกลับญี่ปุ่น ขณะหลบหนี ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และถูกส่งตัวโดยทางรถไฟมากรุงเทพฯ หากแต่เสียชีวิตขณะถูกคุมขัง

ข้อมูลตรงนี้..ทางการญี่ปุ่นทราบดี แต่ไม่อยากเปิดเผย…

ตำนานรักแห่ง อ.ขุนยวม มิใช่มีเพียงคู่เดียวสำหรับรักในยามรบ

ความรัก ที่จบลงด้วยการพลัดพรากของทหารพระจักรพรรดิกับสาวขุนยวม มิได้เดียวดาย แร้นแค้น

เมื่อเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ ถูกรายงานไปถึงหน่วยเหนือในโตเกียว พระจักรพรรดิของญี่ปุ่น พระราชทานถ้วยหรือจอกสาเก ให้เป็นที่ระลึกแก่นางแก้ว โดยให้ผู้แทนพระองค์นำไปมอบให้ถึงบ้าน

ป้าแก้ว คือ ต้นกำเนิดตำนานรักในแนวบทประพันธ์ คู่กรรมความรักระหว่างรบ และยังอยู่ในความทรงจำของชาว อ.ขุนยวมเรื่อยมา ..เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ป้าแก้วได้เคยกล่าวไว้ว่า…

“….สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าดูเสมือนโหดร้าย แต่สำหรับคนไทยอย่างพวกฉัน.. สงครามคราวนี้เป็นความรัก ความผูกพัน ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับคนไทย ที่ฉันไม่เคยลืมเลือน…”

ป้าแก้ว ในช่วงมีชีวิต เธอคือสาวงาม ที่ร้องเพลงญี่ปุ่น ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ดี ถือว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังใน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ตำนานรักของเธอถูกนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์

ภาพป้าแก้ว …พร้อมจอกสาเกที่ได้รับพระราชทานจากพระจักรพรรดิญี่ปุ่น (ภาพจาก board.postjung.com ) และจอกสาเก (ภาพจาก ปลัดเทศบาล ต.ขุนยวม )

อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น และเส้นทางเดินทัพสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกพัฒนา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นให้มาเยือน เคยมีการสํารวจเส้นทางการเดินทัพของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 12-15 พฤษภาคม พ.ศ.2540 ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับมูลนิธิเอโตะจากประเทศญี่ปุ่น

ส่วนเรื่องของกองทัพญี่ปุ่น ณ จังหวัดกาญจนบุรี เรื่องทางรถไฟสายมรณะ สะพานมรณะ… มีข้อมูล มีภาพถ่ายเหลือเฟือ ถึงขนาดนำไปสร้างภาพยนตร์ฉายทั่วโลก ชื่อ Bridge of River Kwai ทหารสัมพันธมิตร (ฝรั่ง) ตายราว 7 พันคน เพราะถูกทหารญี่ปุ่นบังคับให้สร้างทางรถไฟ สร้างสะพาน ที่กาญจนบุรี

ส่วนข้อมูล ณ พื้นที่แม่ฮ่องสอน ค่อนข้างกระจัดกระจาย ที่เป็นตัวเป็นตน เป็นรูปเป็นร่าง ก็มาจากการบอกเล่าของบุคคลที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ และหลักฐานทาง โบราณคดีที่เป็นซากสิ่งของที่ถูกทิ้งและโครงกระดูก รวมทั้งแหล่งโบราณคดีไม่ว่าจะถนน ค่าย ที่พักในวัดต่างๆ หลุมฝังศพ

มีข้อมูลระบุว่า มีทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง กระทำฮาราคีรี คือ การคว้านท้อง ฆ่าตัวตาย เมื่อทราบว่ากองญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม และฝังร่างของนักรบอันมีเกียรติไว้ที่ อ.ขุนยวม

บุคคลสำคัญที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ คือ พันตํารวจโท เชิดชาย ชมธวัช ในฐานะผู้ที่สนใจค้นคว้าด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องเมื่อครั้งท่านมาดำรงตำแหน่งผู้กำกับ สภ.อ.ขุนยวม เมื่อ พ.ศ.2537 และคุณสุรศักดิ์ ป้อมทองคํา ปราชญ์ท้องถิ่นที่ริเริ่มค้นคว้ารวบรวมข้อมูล เป็นผู้จุดประกายให้ทุกฝ่ายมีความ สนใจพื้นที่ประวัติศาสตร์บริเวณนี้

พ.ต.ท.เชิดชายได้เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งของของทหารญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งเอาไว้เกะกะใน อ.ขุนยวม จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นจำนวนมากกว่า 1,000 รายการ นอกจากนั้น ยังได้เก็บสะสมรูปภาพ และเรียบเรียงเรื่องราวที่เกี่ยวกับศพของทหารญี่ปุ่น

ผู้ให้ข้อมูลในพื้นที่ หมายรวมถึง “ป้าแก้ว” ที่บอกเล่า เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ท่านเป็นคนสำคัญในพื้นที่ มีข้อมูลที่ถ่ายทอดไว้มากหลายก่อนเสียชีวิต

พิพิธภัณฑ์นี้ ยังเป็นที่จัดแสดง ผ้าไหมญี่ปุ่น บนผืนผ้าเขียนด้วยลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ ที่อธิบายถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงคราม

กล่าวกันว่าผ้านี้มีเพียง 5 ผืนเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีแท่นบูชา และดาบซามูไร เครื่องแต่งกาย ทั้งเสื้อผ้าและหมวกเหล็ก และเครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องรางแบบญี่ปุ่นที่ใช้ห้อยติดตัว กล้องถ่ายภาพ อุปกรณ์เครื่องเขียน อีกทั้งยังมีอาวุธ ทั้งปืนสั้น ปืนยาว และหีบบรรจุยุทธภัณฑ์

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุย สนทนากับบุคคลในพื้นที่ ทำให้ทราบว่า เมื่อญี่ปุ่นโดนระเบิดปรมาณูไป 2 ลูก ประชาชนญี่ปุ่นตายลงอย่างน่าอนาถนับแสนคน มีทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่ “หลบหนี” ไม่กลับไปบ้านเกิด แฝงกาย ใช้ชีวิต มีครอบครัวอยู่ทางภาคเหนือ และอีกหลายพื้นที่ในสยามประเทศ ซึ่งก็มิได้เป็นที่น่ารังเกียจแต่ประการใด

ย้อนกลับมาที่ ป้าแก้วครับ… เมื่อสงครามจบลง เรื่องของทหารญี่ปุ่นในแม่ฮ่องสอนถูกตีแผ่ สื่อต่างประเทศเคยเข้ามาสัมภาษณ์ ถามไถ่ตำนานความรักและเหตุการณ์ในระหว่างสงคราม เธอให้ข้อมูลได้อย่างละเอียด

18 สิงหาคม 2555 คุณแม่แก้ว จันทสีมา หรือ นางแก้ว หว่าละ หญิงสาวที่สร้างตำนานรักแนว อังศุมาลิน-โกโบริ เสียชีวิตด้วยโรคชรา ในวัย 86 ปี

ปิดตำนานความรักระหว่างสาวไทยกับทหารญี่ปุ่น ร่างของเธอได้รับการฌาปนกิจเมื่อ 23 สิงหาคม 2555 ณ วัดดอนเจดีย์ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน

ก่อนปิดต้นฉบับ… ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับนายภคนท รชตธนบวร ปลัดเทศบาลตำบลขุนยวม ท่านได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ป้าแก้ว มีลูกชาย 2 คนกับสามีทหารญี่ปุ่น คนโตเคยเป็นอาจารย์ในแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ส่วนลูกชายคนเล็กเสียชีวิตไปเมื่อวัยกลางคน

วันที่ 30 มกราคม 2563 จะมีชาวญี่ปุ่นราว 30 คน มาเยี่ยมที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ และย้อนไปในปี พ.ศ.2524 เคยมีคณะทำงานจากประเทศญี่ปุ่นมาขุดค้นโครงกระดูก พบที่ อ.ขุนยวม ราว 400 โครง และพบที่บ้านห้วยโป่งราว 200 โครง ในเวลานั้น ผู้แทนกองทัพญี่ปุ่นจัดพิธีฌาปนกิจบรรพบุรุษนักรบอย่างสมเกียรติและนำเถ้าถ่านมารวมไว้ ณ อนุสาวรีย์ (ตามภาพ) ใน อ.ขุนยวม

แต่ละวัน.. ยังพอมีลูก หลาน ทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลก มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Thai-Japan Friendship Memorial Hall, the World War II Museum เพื่อรำลึก แวะมาขอบคุณ คารวะชาว อ.ขุนยวม ที่เคยช่วยชีวิตเหล่านักรบลูกพระอาทิตย์…

น้ำใจ ไมตรี ของชาวแม่ฮ่องสอนต่อทหารญี่ปุ่นในยามตกระกำลำบาก ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะลืมเลือน….แวะเวียนไปเที่ยวแม่ฮ่องสอนกันนะครับ…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image