นักเรียน ม.1 สุดเจ๋ง ประดิษฐ์เครื่องฝุ่น PM 2.5 แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงผ่านไลน์

นักเรียน ม.1 สุดเจ๋ง ประดิษฐ์เครื่องฝุ่น PM 2.5 แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงผ่านไลน์

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ห้องประชุม PDCA ชั้น 2 รร.เมทนีดล ถ.เลี่ยงเมือง ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผอ.ร.ร.เมทนีดล ได้เปิดตัว ด.ช.ชยกฤต(เมฆ) เพียนอก นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเมทนีดล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สามารถคิดค้น “เครื่องวัดปริมาณฝุ่น P.M 2.5 โดยใช้ Dust Sensor” แจ้งเตือนผ่านทางแอพพริเคชั่นไลน์ (Line) หากท่านอยู่ในพื้นที่เสี่ยงฝุ่น ไลน์จะเตือนทันที พร้อมขึ้นปริมาณฝุ่นให้เห็น รีบสวมหน้ากากและควรรีบห่างจากบริเวณนั้น

โดยมี อาจารย์ชาวต่างประเทศ และนักเรียนลูกครึ่งไทย -ต่างชาติ ร่วมสาธิตการทำงาน ขณะที่หลายฝ่ายกำลังหามาตรการรับมือปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่จังหวัดใหญ่ๆ ของประเทศไทย

ดร.อรทัย ผอ.ร.ร.เมทนีดล กล่าวว่า ทางโรงเรียนเมทนีดล ได้เรียนเชิญ ผศ.ดร.เกสร วงศ์เกษม อาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเมคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าเป็นอาจารย์พิเศษ และเป็นผู้ปกครองโรงเรียน มีจิตอาสาในการเข้าช่วยสอนนักเรียน ทักษะปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาตลอด 3 ปี จึงได้เป็นเสมือนพี่เลี้ยงดูแล ทั้งน้องเมฆและเพื่อนๆตั้งแต่เรียนประถมศึกษามีแววเด่นด้านงานปัญญาประดิษฐ์ AI กระทั่งขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 น้องเมฆ สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจและมีความคิดที่ยอดเยี่ยม เรียกว่า ผลงานไม่เป็นรองนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

ดร.อรทัย กล่าวอีกว่า ด้วยความเด่น ด้านหลักสูตรและการสอน ของโรงเรียนเมทนีดล โรงเรียนมีคุณครูประจำวิชาปัญญาประดิษฐ์ AI ทั้งชาวไทยและจีน คือ นายณรงค์ธร เนื้อจันทา (ครูกอล์ฟ) จบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเมคาทรอนิกส์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อม Ms. Ren Shuang คุณครูชาวจีน จาก มหาวิทยาลัย วิศวกรรมฮาร์เออบิน มณฑลเฮย์หลงเจียง ได้สอน น้องเมฆ ให้เรียนวิชา AI ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาที่เมทนีดล เมื่อขึ้นมัธยมเด็กทุกคนต้องมีนวัตกรรมเป็นของตนเองในวิชา IPG (International Independent Project Qualification) และ AI (Artificial Intelligence) ต้องคิดประเด็นทำงานวิจัยที่ต้องเสนอปัญหาพร้อมหาทางแก้

Advertisement

จึงได้คิดค้นการประดิษฐ์นวัตกรรมที่อยู่ในกระแส เพื่อต้องการให้ผู้คนรู้ตัวในขณะที่ต้องเผชิญละอองฝุ่น pm 2.5 ในจุดเสี่ยงต่างๆ ถือว่าเมฆ มีทักษะการเรียนรู้ที่เก่งมาก และสามารถต่อยอดนวัตกรรมไปได้อีกมาก

ด้าน ด.ช.ชยกฤต (เมฆ) น.ร.ม.1ร.ร.เมทนีดล กล่าวว่า ขั้นตอนการทำงานของอุปกรณ์วัดปริมาณฝุ่น P.M 2.5 โดยใช้ Dust Sensor แจ้งเตือนผ่านทางไลน์ เมื่อเปิดสวิตซ์อุปกรณ์จะเริ่มตรวจจับฝุ่น ณ บริเวณนั้นๆ โดยเซ็นเซอร์ใช้หลักการปล่อยแสงเลเซอร์ไปยังตัวรับ เซ็นเซอร์แปลงค่าเป็นปริมาณของฝุ่นแล้วส่งไปยัง nodemcu ให้ประมวลผล และแสดงผลค่าการวัดผ่านหน้าจอ LCD นอกจากนั้นยังแจ้งเตือนไปแอพพลิเคชั่น line บนมือถือ ผ่านระบบ wifi ซึ่งจะแสดงค่าปริมาณฝุ่นแบบเวลาจริง (Real time)

ด.ช.ชยกฤต(เมฆ) เพียนอก นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเมทนีดล จังหวัดขอนแก่น
ด.ช.ชยกฤต(เมฆ) เพียนอก นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเมทนีดล จังหวัดขอนแก่น

Advertisement

ศ.ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคม ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ได้กล่าวชื่นชมนักเรียนเมทนีดลทุกคน และเด็กชายชยกฤต เพียนอก เมฆ ที่สามารถสร้างนวัตกรรม AI เพื่องานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อยู่เพียงชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 เทอม 1พบนักเรียนในงาน การประชุมวิชาการสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2562 การจัดการสุขภาพในยุคปัญญาประดิษฐ์ : Health Management in Artificial Intelligence Era

รู้สึกทึ่งมากที่นักเรียนชั้น ม.1 ร.ร.เมทนีดล จังหวัดขอนแก่น มีความสามารถในการคิดค้น ประดิษฐ์นวัตกรรมเอไอ (AI) และเป็นประเด็นสำคัญของโลกที่ตอบสนองด้านสาธารณสุข อย่างแท้จริง ถามอะไรในเชิงลึกด้านโคดดิ้ง นักเรียนตอบได้ชัดเจนทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย อยากแนะนำให้ส่งผลงานนักเรียนเข้าประกวดระดับชาติต่อไป เพราะนักเรียนทุกคนของเขามีผลงานชั้นเยี่ยมด้วยกันทั้งนั้น

“โรงเรียนเมทนีดลที่ได้ส่งเสริมนักเรียนได้เดินถูกทางมาตลอด 12 ปี มีรูปแบบการดำเนินงานชัดเจนในหลายๆด้าน ยิ่งในยุคดิจิทัล ซึ่งทางโรงเรียนเมทนีดล ได้สร้างและส่งเสริมนักวิจัย วัยเยาว์ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้อย่างน่าทึ่งมาก “ศ.ดร. ธนารักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image