เอกชนชี้ 5 วิกฤต “โคโรนา-ฝุ่นพิษ-แล้ง-บาทแข็ง-งบรัฐล่าช้า”ทุบจีดีพีปี63หลุด 2.5%

เอกชนเผย 5 วิกฤต “โคโรนา-ฝุ่นพิษ-แล้ง-บาทแข็ง-งบรัฐล่าช้า”ทุบจีดีพีปี63หลุด 2.5% หอค้าแนะแก้วิกฤตไม่ต้องรอรัฐ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมร่วมภาคเอกชน(กกร.)อยู่ระหว่างเตรียมปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ปี 2563 จากกรอบเดิมคาดไว้ 2.5-3.0% เนื่องจากมีปัจจัยเพิ่มจากปัญหาไวรัสโคโรนา ที่แพร่กระจายที่จะส่งผลต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนลดลง แต่ก็มีนักเที่ยวจากประเทศอื่นหันมาที่ไทยมากขึ้น

นายกลินท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีผลจากวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยแล้งที่จะกระทบต่อภาคเกษตร ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าที่อาจจะกระทบต่อการส่งออก และเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ล่าช้า

“ภาคเอกชนยังมั่นใจในมาตรการรัฐ แต่มาตรการอะไรบ้างที่เอกชนทำได้ด้วยตัวเองก็ต้องทำก่อน หรือมาตรการใดที่รัฐออกมาแล้วอาจต้องมีการทบทวนเราก็ได้จัดทำข้อเสนอไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญขอให้รัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อมาใช้ดำเนินงานตามแผน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ จะช่วยลดปัญหาสภาพคล่องเอกชน และส่งรายได้เข้าระะบเศรษฐกิจ อย่างตอนนี้มีโครงการประมูลภาครัฐที่ทำเสร็จแล้วตั้งแต่นำ้ท่วมที่ยังไม่ได้รับเงิน 200 กว่าโครงการ เป็นเงินถึง 4 หมื่นล้านบาท ก็ได้เสนอให้กระทรวงการคลังเร่งรัดด้วย เป็นต้น “ นายกลินท์ กล่าว

Advertisement

นายกลินท์ กล่าวว่า นอกจากนี้มหาวิยาลัยหอค้าไทย กำลังรวบรวมผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และแถลงผลในวันที่ 30 มกราคม

นายศรัณยู ชเนศร์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการภาครัฐสามารถดูแลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาได้ เพราะยังเป็นไปตามมาตรฐาน 13 ดัชนีของ Global Index

แต่ความท้าทายตอนนี้เกิดปัญหาว่าสถานพยาบาลบางพื้นที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากป้องกันเชื้อ เจลล้างมือ จากที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น 100% ทั้งจากประชาชน และนักท่องเที่ยวมีการซื้อกักตุน ส่งผลให้มีการฉวยโอกาสปรับราคา เช่น หน้ากาก N95 ราคาไม่ควรเกิน 90 บาท แต่ขายถึง 120 บาท ดังนั้นขอให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลราคาจำหน่ายให้เกิดความเหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการ

Advertisement

พร้อมกันนี้เสนอให้ลดการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศและหันมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น และระวังการเผยแพร่ข่าวเฟคนิวส์

นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องขยายวงกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น เพราะเดิมไทยเน้นนักท่องเที่ยวจีน และผู้ที่เคยเดินทางไปจีน แต่ล่าสุดในไทยพบผู้ป่วยที่เป็นพนักงานสปาที่ให้บริการแก่นักเที่ยวจีน ดังนั้น เราต้องขยายวงการเฝ้าระวังไปยังกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิด สัมผัสหรือ พักอาศัยในที่เดียวกันกับผู้เสี่ยง เช่น พนักงานในโรงแรม สปา ร้านอาหารต่างๆ แต่ไม่ถึงขนาดที่ต้องคุมเข้มผู้ที่แค่เดินผ่าน หรือแค่เสิร์ฟอาหารให้นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ผู้ที่กังวลว่ามีความเสี่ยงให้เฝ้าสังเกตอาการในระยะเวลา 14 วัน หลังสัมผัสและใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยง และอยากให้ประชาชนที่ต้องการเพิ่มความระมัดระวังแล้วใส่หน้ากาก ต้องใส่ตลอดเวลาและเปลี่ยนทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image