ไวรัสโคโรนาในไทย ยังทรงตัว สธ.ยืนยันมาตรการ ที่ทำตอนนี้ ทำดีที่สุดแล้ว

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดสธ. นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าวประจำวันเรื่องความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยยืนยันติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019 เชื้อสะสมทั้งหมด 19 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 12 ราย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 7 ราย และมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังรายใหม่เพิ่มขึ้นในวันที่ 31 มกราคม จำนวน 64 ราย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 3 – 31 มกราคม สะสมรวม 344 ราย เป็นการคัดกรองจากสนามบิน 39 ราย มารับการรักษาเองที่ รพ. 305 ราย ยังคงรักษาอาการอยู่ในรพ. 274 รายแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 70 ราย โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สถานการณ์ทั่วโลกใน 22 ประเทศข้อมูลตั้งแต่ 5 – 30 มกราคม พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 9,819 ราย ส่วนประเทศจีนข้อมูลวันที่ 3 มกราคม พบผู้ป่วย 11,374 ราย เสียชีวิต 259 ราย การคัดกรองที่สนามบินยังคงมีการดำเนินการเข้มข้นต่อไป เนื่องจากยังมีผู้เดินทางมาจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศอยู่ จากการตรวจคัดกรอง 5 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ได้ตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ สะสมตั้งแต่วันที่ 3 – 25 มกราคม 137 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 21,522 คน วันที่ 24-31 มกราคม ท่าอากาศยานเชียงราย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยาน ภูเก็ต ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คัดกรองผู้โดยสารสายการบิน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน 152 เที่ยวบิน ผู้เดินทางและลูกเรือได้รับการคัดกรอง จำนวน 8,792 ราย ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ด่าน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง

“ในระยะหลังผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเราขยายวงเฝ้าระวังออกไปเป็นชาวจีนทุกคนเดินทางจากประเทศจีน จากในระยะแรกเราเฝ้าระวังแค่ชาวจีนที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นเท่านั้น และระยะหลังเราเพิ่มคนไทยที่ทำงานสัมผัสกับชาวจีนอย่างใกล้ชิด ที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง โดยทั่วไปดูได้จากผู้สัมผัส 2 แบบ คือ แบบที่ 1 ผู้สัมผัสทั่วไป ที่เดินสวนกัน ความเสี่ยงใกล้ศูนย์ โอกาสติดเชื้อแทบไม่มีเลย และในแบบที่ 2 ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง เป็นการสัมผัสใกล้ชิดที่มีการพูดคุยกันนานกว่าระยะหนึ่งและอีกแบบคือผู้สัมผัสใกล้ชิดในสถานที่ปิดเป็นระยะนานพอสมควร เช่น ในรถแท็กซี่” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Advertisement

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า การป้องกันตัวในผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปก็จะต้องมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย เช่น คนขับแท็กซี่ ควรจะล้างมือบ่อยๆ และหากได้รับผู้โดยสารชาวจีนที่มีอาการไอ จาม ภายหลังจากการส่งผู้โดยสารแล้วก็ต้องทำความสะอาดในรถ เพื่อป้องกันตัวเองและผู้โดยสารคนต่อไป ส่วนประชาชนคนอื่นที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยน้อยมากก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่น หากไม่มีการเดินทางออกจากบ้านเลย ความเสี่ยงก็น้อยมากที่จะติดเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถพิจารณาได้ตามความเสี่ยงของตนเองและจัดการความเสี่ยงตามความเหมาะสม หากผู้ที่ทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับชาวจีนและเริ่มมีอาการป่วย ให้ติดต่อมาที่ โทร 1422 หรือสามารถสวมใส่หน้ากากอนามัยและเดินทางไปรับการตรวจได้ที่ รพ.และทำการแจ้งว่ามีอาการต้องสงสัยอย่างไร เพื่อให้ทาง รพ. ตื่นตัวและสามารถป้องกันผู้ป่วยคนอื่นและบุคคลากรทางการแพทย์ได้ และส่วนของประชาชนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นชาวจีนแต่มีความตื่นตระหนกและอยากจะเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัส ก็สามารถทำได้แต่มีค่าใช้จ่ายเนื่องจากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ในกลุ่มเสี่ยงที่สมควรได้รับการตรวจนั้นสามารถเข้ารับการตรวจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เมื่อถามว่าในกรณีคนขับรถแท็กซี่ได้รับเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยติดเชื้อชาวจีน จะต้องมีมาตรการเข้มงวดขึ้นในการรับ-ส่งผู้ป่วยไป รพ.หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ทางคณะทำงานจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป เนื่องจากภาระงานของเจ้าหน้าที่มีมากอยู่แล้วจึงไม่สามารถส่งรถพยาบาลไปรับได้ทุกกรณี พร้อมทั้งผู้ป่วยชาวจีนที่มีอาการป่วยและต้องการเดินทางไป รพ.นั้น จะต้องยอมรับว่ามีบางรายที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้แจ้งไป สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการให้คำแนะนำกับผู้เดินทางทุกรายว่าหากมีอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ และต้องการเดินทางไปพบแพทย์ก็จะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการน้อยมากใยบางครั้งอาจจะไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น ดังนั้นทางป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันจากตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ สธ.เน้นย้ำให้มีการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นประจำ

เมื่อถามต่อว่าแท็กซี่รายนี้ได้รับส่งนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มที่มีอาการป่วยจากที่ไหนไปที่ไหนบ้าง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ในระยะแรกของการสอบสวนโรคก็ได้รับคำยืนยันแต่เมื่อได้มีการซักถามใหม่หลายครั้งก็มีความไม่แน่ใจ ซึ่งก็ได้พยายามซักถามให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้ป่วยรายนี้ได้รับเชื้อมาจากใคร แต่สำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อผู้ป่วยได้เชื้อมาแล้วนั้นเขาได้ไปสัมผัสกับผู้อื่นต่อหรือไม่ เราจึงให้น้ำหนักกับผู้สัมผัสหลังการป่วยว่ามีใครบ้าง ซึ่งพบว่ามีจำนวน 13 ราย เป็นคนในครอบครัว 3 รายและอีก 10 รายเป็นแพทย์ เจ้าหน้าที่คลินิกที่ผู้ป่วยได้เข้าไปรับการตรวจเบื้องต้น และขณะนี้ผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมดยืนยันแล้วว่าไม่พบเชื้อไวรัส

Advertisement

เมื่อถามว่าการยืนยันการติดเชื้อของคนขับแท็กซี่ในวันที่ 27 มกราคม แต่ทำไมมีการแถลงที่ล่าช้า นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ในการตรวจจะต้องมีความมั่นใจ เพื่อป้องกันการสับสนของข้อมูล โดยเฉพาะเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเชื้อในประเทศ เราจะไม่ทำการตรวจเพียง 1 ครั้งแล้วยืนยันได้เลย เราจะต้องมีการตรวจซ้ำเพื่อความมั่นใจที่สุด นอกจากการดูผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วยังต้องดูไปถึงผลการตรวจฟิล์มเอกซเรย์ปอด พร้อมทั้งจะต้องได้รับคำยืนยันกับคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่าน “จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญประชุมกันเมื่อเช้าวันที่ 31 มกราคม และได้แถลงการณ์เมื่อช่วงบ่ายของในวันนั้นเลย กระบวนการการทำงานเราพยามทำให้รวดเร็วที่สุด เท่าที่เราทำได้ ซึ่งเราคาดว่าเราก็ทำได้รวดเร็ว” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่าการตรวจผู้ป่วยชาวจีนที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ที่ได้รับการตรวจเชื้อบริเวณคอและจมูกถึง 2 ครั้งแต่ไม่พบเชื้อ กระทั่งการพบเชื้อจากน้ำในปอด ทั้งนี้จะทำให้การเฝ้าระวังมีความยุ่งยากมากขึ้นหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โรคระบบทางเดินหายใจ ลักษณะอาการจะไม่ห่างกันมากเท่าไหร่ การเก็บตัวอย่างมีความยุ่งยากและผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ เนื่องจากจะต้องสอดอุปกรณ์เข้าทางโพรงจมูกและสามารถเก็บตัวอย่างได้น้อยหากผู้ป่วยดิ้นหรือไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้น การเก็บตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจส่วนล่างจะตรวจเจอเชื้อได้ง่ายกว่ากว่าระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทั้งนี้ยังเกี่ยวข้องกับปริมาณของเชื้อในร่างกายที่อาจจะมีปริมาณน้อย โอกาสเจอเชื้อก็จะน้อยตามลงไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับในช่วงระยะเวลาของการแสดงอาการป่วยด้วย

“วิธีการที่เราทำทุกวันนี้จะทำให้เราหลุดมากไหม ผมยืนยันว่ามาตรการที่เรา ถ้าหากผู้ป่วยติดแล้วมีการป่วย แต่ยังไม่หายจากอาการ เราก็จะไม่อนุญาตให้กลับบ้าน เพราะถ้าอาการหายหมด โอกาสในการแพร่เชื้อก็จะน้อยมาก ซึ่งวิธีการที่เราทำเราได้คำนึงถึงทุกอย่างแล้ว ซึ่งยืนยันว่าเป็นมาตรการที่ดีสุด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image