ปัจจัยลบเพียบ!!!ฉุดความเชื่อมั่นประชาชนรูดหนัก มุมมองศก.ปัจจุบันแย่สุดรอบ20ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของเดือนมกราคม 2563 พบว่า ความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ต่ำสุดรอบในรอบ 69 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ต่ำสุดในรอบ 220 เดือน(18ปี4 เดือนนับจากตุลาคม 2544) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ต่ำสุดในรอบ 67 เดือน ซึ่งค่าดัชนีจากเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 68.3 45.8 และ 78.1 ลดลงมาอยู่ที่ 67.3 45.0 และ 76.8 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมต่ำสุดรอบ 69 เดือนจากพฤษภาคม 2557 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 243 เดือน(20ปี 3 เดือน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2542 ) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต ต่ำสุดรอบ 68 เดือน อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำในปัจจุบันต่ำสุดในรอบ 217 เดือน(18 ปี 1 เดือนนับนับจากมกราคม 2545 )

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ได้ผลสำรวจภาวการณ์ใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งการซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถใหม่ ลงทุนเพิ่ม และท่องเที่ยว พบว่า ลดลงทุกรายการ เช่นเดียวกับกับภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภค ด้านความสุขในการดำเนินชีวิต ภาวะค่าครองชีพ ปัญหายาเสพติด และสถานการณ์ทางการเมือง อยู่ในภาวะต่ำลงทั้งสิ้น โดยเฉพาะดัชนีภาวะค่าครองชีพอยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 164 เดือน(13ปี 8 เดือนนับจากทำสำรวจพฤษภาคม 2549)

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทำระดับต่ำสุดมาจากหลายปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ ผลจากส่งออกติดลบและสงครามการค้าโลกกระทบต่อการค้าโลก ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ลดจีดีพีเหลือ 2.8% จากเดิม 3.3% เงินบาทอ่อนค่ามีผลต่อเงินไหลเข้าประเทศและราคาสินค้าส่งออก ผลกระทบจากเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ทำให้การลงทุนล่าช้าออกไป ผลกระทบจากภัยแล้ง ฝุ่นละอองPM 2.5 ราคาพืชผลเกษตรยังต่ำ ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลง

” ที่สำคัญผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว และผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวอยู่ในระดับสูง ยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะลดลงอีกในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์ฯกำลังติดตามสถานการณ์ว่าปัจจัยลบจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน โดยเฉพาะการระบาดไวรัสโคโรนาจนกระทบต่อการท่องเที่ยว หายไป 2.2 แสนล้านบาทและการบริโภคในประเทศต้องระมัดระวังมากขึ้น รวมถึงการส่งออกซึ่งยังประเมินว่ายังเป็นบวก 0.8% ได้ในปีนี้จากโอกาสส่งออกลุ่มอาหารและของใช้เพื่อสุขอนามัย อีกทั้งปัจจัยเรื่องภัยแล้ง เบิกจ่ายงบล่าช้า ปัญหาการเมืองในประเทศ ก็จะนำมาทบทวนในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมนี้ จากปัจจุบันประเมินเศรษฐกิจไว้ที่ 2.8% ” นายธนวรรธน์ กล่าว

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายดอกเบี้ยนั้น ส่วนตัวอยากให้คงอัตราดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ได้เต็มที่ จะกลายเป็นกับดักก่อปัญหาสภาพคล่องในอนาคตได้ และสะท้อนถึงความวิตกต่อเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวหนักขึ้นไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image