ชธ.เล็งขุดเจาะสินภูฮ่อมเพิ่ม รักษาปริมาณก๊าซฯ-ผุดโรงไฟฟ้าน้ำพองใหม่

ชธ.เล็งขุดเจาะสินภูฮ่อมเพิ่ม รักษาปริมาณก๊าซฯ-ผุดโรงไฟฟ้าน้ำพองใหม่ เผยแผนแก๊สรอผลสรุปเออีดีพี-อีอีพีก่อน

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) เปิดเผยถึงแผนการสร้างความมั่นคงให้กับการผลิตไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ปี 2563 บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะดำเนินการขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติบนดิน คือ แหล่งสินภูฮ่อมเพิ่มเติม ในพื้นที่จ.อุดรธานี และจ.ขอนแก่น เพื่อใช้พิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง ทดแทนโรงเก่าที่มีกำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ และจะหมดอายุในปี 2564 หลังจากที่ก่อนหน้าได้ ปตท.สผ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทำแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซน้ำพอง(ทดแทน) เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ฉบับใหม่ แทนการปลดออกจากระบบจากการสิ้นสุดอายุโรงไฟฟ้า ดังนั้นจะต้องติดตามผลการขุดเจาะดังกล่าวเป็นหลัก หากมีกำลังการผลิตเพียงพอเทียบเท่ากับเดิม คือ ป้อนก๊าซในระยะยาวกว่า 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ ก็จะพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทันที แต่หากขุดเจาะน้อยกว่าที่กำหนด อาจต้องปลดโรงไฟฟ้าก๊าซน้ำพองเดิมออกจากระบบ

“หากขุดแล้วเจอก๊าซธรรมชาติที่เทียบเท่ากับจำนวนเดิมก็จะพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ทดแทนโรงเดิมที่จะปลดระวาง ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เทคโนโลยีต้องดีขึ้น มีประสิทธภาพมากขึ้น สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคอีสาน แต่หากขุดเจาะแล้วปริมาณก๊าซธรรมชาติน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากจะไม่คุ้มทุน โดยอาจใช้วิธีนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ได้อาจส่งไปผลิตในโรงไฟฟ้าแห่งอื่น”นายสราวุธกล่าว

นายสราวุธ กล่าวว่า สำหรับการจัดหาและความต้องการพลังงานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน แบ่งประเภทการผลิตไฟฟ้าได้ ดังนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน กำลังผลิต 2,105 เมกะวัตต์ คิดเป็น 53.20% โรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ กำลังผลิต 737 เมกะวัตต์ คิดเป็น 18.60% โรงไฟฟ้าน้ำพอง กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ คิดเป็น 16.40% ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กอื่น ๆ กำลังผลิตรวม 453 เมกะวัตต์ คิดเป็น 11.50% และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กำลังผลิต 11 เมกะวัตต์ คิดเป็น 0.30%

Advertisement

นายสราวุธ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ หรือ แก๊สแพลน ที่เป็นหนึ่งในแผนลูกของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 20 ปี(พีดีพี) ปัจจุบันเตรียมปรับปรุงควบคู่ไปกับการรอความชัดเจนของการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) และแผนอนุรักษ์พลังงาน(อีอีพี) โดยจะต้องทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ด้วย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image