อาเซียนเร่งรัด 4 ประเด็น เพื่อให้บรรลุ ‘ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน’

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ว่า เป็นการหารือเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของอาเซียน และอาจนำไปสู่การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกันในอนาคต  ซึ่งประเด็นการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ 1.ประเด็นด้านเศรษฐกิจ ที่เวียดนามเสนอให้อาเซียนร่วมกันผลักดันให้สำเร็จในปีนี้ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของเวียดนาม 2.การประเมินผล AEC ครึ่งทางที่ผ่านมา 3.กำหนดการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศคู่ค้าต่อจาก RCEP 4.การปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับอนาคต และ 5.ย้ำการลงนามความตกลง RCEP ให้ได้ภายในปีนี้

นายพิทักษ์กล่าวว่า คณะทำงานได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผล AEC ครึ่งทางที่ผ่านมา ว่า มีความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 หรือไม่อย่างไร เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2558 ค่อนข้างมาก ต้องประเมินผลการทำงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายไปมากน้อยเพียงใด มีประเด็นใดที่ประสบความสำเร็จและประเด็นควรปรับปรุง รวมทั้งประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าโลกที่จะเกิดขึ้นและส่งผลต่อเศรษฐกิจอาเซียน โดยมอบหมายสำนักเลขาธิการอาเซียนทำการประเมินเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานต่อไป ให้แล้วเสร็จปลายปี 2563 เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของอาเซียนในอนาคตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2568

นายพิทักษ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวางว่า อาเซียนควรมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับประเทศใดบ้าง ภายหลังจากการสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งกลุ่มประเทศที่เข้ามาแสดงความสนใจขอมีความสัมพันธ์กับอาเซียน ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ สหภาพยุโรป แคนาดา ชิลี สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU)ที่ประกอบด้วยประเทศเบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย ซึ่งขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการประเมินความเป็นไปได้และศักยภาพของประเทศที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน โดยทั้ง 4 กลุ่มมีจุดอ่อนและจุดแข็ง รวมทั้งมีมาตรฐานและความต้องการในการเปิดเสรีที่แตกต่างกัน

นายพิทักษ์กล่าวว่า เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะร่วมกันผลักดันในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวและพร้อมปรับตัว” (Cohesive and Responsive ASEAN) รวม 14 ประเด็น โดยเป็นประเด็นที่สานต่อจากที่ไทยริเริ่มไว้ เช่น จัดทำกลไกเพื่อติดตามและประเมินการบูรณาการด้านดิจิทัล จัดทำแผนงานด้านต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (IUU) และการลงนามความตกลง RCEP หลังจากปิดดีลที่ไทยในปีที่ผ่านมา

Advertisement

“ที่ประชุมต่างให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมกันผลักดันการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ เช่นเดียวกับปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อาเซียนสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ไทยได้เสนอไว้ทั้งหมด เช่น การเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window ในทุกประเทศสมาชิกอาเซียน การสรุปการเจรจา RCEP เป็นต้น “

นายพิทักษ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญของเวทีการประชุมนี้ ได้เสนอว่า HLTF-EI ควรกำหนดทิศทางเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะการปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของโลก เพื่อให้สินค้าและบริการของอาเซียนได้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯยืนยันให้มีการลงนามความตกลง RCEP ในปีนี้

สำหรับอาเซียนประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มีประชากรรวมกว่า 650 ล้านคน มี GDP 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.4 ของ GDP โลก โดยปัจจุบันอาเซียนได้จัดทำ FTA ทั้งสิ้น 6 ฉบับกับ 7 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และฮ่องกง โดยล่าสุดได้สรุปการเจรจา RCEP ปลายปี 2562 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image