ลุ้นน้ำจืดจากทะเล ช่วย ‘อีอีซี’ ไร้แล้ง

ลุ้นน้ำจืดจากทะเล ช่วย ‘อีอีซี’ ไร้แล้ง

ภัยแล้งปีนี้ หลายจังหวัดประสบปัญหาหนักหนาสาหัส นอกจากพื้นที่การเกษตรจะเสียหายจำนวนมากแล้ว ภาคอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะภาคตะวันออก ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง

ในพื้นที่อีอีซี มีความต้องการใช้น้ำ 430 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้มีปริมาณน้ำ 410 ล้าน ลบ.ม.ยังขาดประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ทางวอร์รูมแก้ปัญหาน้ำภาคตะวันออก โดยกรมชลประทาน จึงเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยลงนามข้อตกลงกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทุบรี เพื่อขอผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ไปเติมที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง 10 ล้าน ลบ.ม. เริ่มผันน้ำวันที่ 1-25 มีนาคมนี้

ปัจจุบันอ่างคลองประแกดมีความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 40-50 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่จะใช้น้ำประมาณ 15-20 ล้าน ลบ.ม. จึงมีน้ำที่จะนำไปเติมที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นอ่างน้ำหลักที่ใช้ในพื้นที่อีอีซี

Advertisement

ส่วนน้ำที่ยังขาดอีก 10 ล้าน ลบ.ม. จะขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรม และการประปาทุกสาขา ลดการใช้น้ำลงกว่า 10% รวมทั้งให้บริษัท อีสวอเตอร์ ที่ผลิตน้ำป้อนภาคอุตสาหกรรม ให้ปรับปรุงระบบน้ำและร่วมกันหาแหล่งน้ำดิบสำรองประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. และปรับปรุงระบบ สูบกลับ วัดละหารไร่ เพื่อเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล วันละ 100,000-150,000 ลบ.ม. พร้อมปรับปรุงระบบสูบกลับคลองสะพาน เพื่อเติมอ่างประแสร์อีก 10 ล้าน ลบ.ม.ให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ด้าน บุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาฯหอการค้าจังหวัดระยอง ให้ข้อมูลว่าอ่างเก็บน้ำ 5 อ่างหลักของ จ.ระยอง การวางท่อส่งน้ำมายังอ่างต่างๆ เอื้อภาคอุตสาหกรรม ชาวสวนไม่ได้ใช้น้ำจากอ่าง ต้องขุดสระน้ำใช้เอง เพราะฉะนั้นในอนาคตต้องวางแผนให้เป็นระบบ ทำท่อเชื่อมต่อไปให้ภาคเกษตรอย่างทั่วถึง ชาวสวนจึงจะได้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ การวางท่อจากประแสร์มาถึงระยอง จะทำอย่างไรให้แนวท่อที่พาดผ่านแล้วต้องปล่อยน้ำให้เกษตรกร

น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีการประเมินในปี 2580 ในพื้นที่อีอีซี จะมีความต้องการใช้น้ำถึง 3,089 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันมีความต้องการใช้ 670 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้นจึงต้องมีแหล่งน้ำเพิ่มเติม และแผนบริหารจัดการการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพ

Advertisement

เมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับพื้นที่อีอีซี ในปี 2563-2580 ใช้งบลงทุนมากกว่า 110,230 ล้านบาท

แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกปี 2563-2570 มีโครงการปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 6 แห่ง ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 10 แห่ง ปรับปรุงระบบผันน้ำเดิม 2 ระบบ ก่อสร้างระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ พัฒนาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้เป็นแก้มลิง ก่อสร้างระบบผลิตน้ำจืดจากทะเล จะทำให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 706.19 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนช่วงที่ 2 คือปี 2571-2580 ประกอบด้วย ก่อสร้างระบบสูบกลับ 2 ระบบ อุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำ คลองพระสะทึง-คลองสียัด และระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 166 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ จะมีการให้สัมปทานเอกชนพัฒนาระบบน้ำสำรอง รวมทั้งโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วย

ด้าน พล.ร.อ.พิเชษฐ ตานะเศรษฐ ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก เผยว่า เชิญหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ มาให้ข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก และรับฟังข้อมูลจากภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาระยะยาว หลังจากเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ได้ลงพื้นที่จ.จันทบุรี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผลไม้ ส่วน จ.ระยอง เป็นเรื่องของอุตสาหกรรม

จากการรับฟังข้อมูลจากทุกหน่วยงานปริมาณน้ำทั้ง 5 อ่างของ จ.ระยอง ยังสามารถดูแลภาคอุตสาหกรรมต่อไปได้ เพราะมีการวางแผนรองรับทั้งในเรื่องน้ำต้นทุนที่จะนำมาเพิ่ม การบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำทุกอ่าง เพื่อบริหารให้ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ปัญหามีแน่นอนแต่มีการวางแผนมีการเตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว

ด้านน้ำภาคการเกษตร มองในระยะสั้น ทางคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีความห่วงใยภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ได้เน้นย้ำต้องไม่ให้มีปัญหา ส่วนภาคอุตสาหกรรม ที่ จ.ระยอง มีการตั้งวอร์รูม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธาน เดิมมีการประชุมทุก 15 วัน ปัจจุบันประชุมทุก 7 วัน ถ้ามีความเข้มงวดขึ้นก็จะประชุมทุก 3 วัน

“ผมเชื่อว่าความร่วมมือความตั้งใจการแก้ไขปัญหาของผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งส่วนราชการต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหา ผมคิดว่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี ส่วนกรณีภาคเอกชนเสนอให้ทำน้ำทะเลเป็นน้ำจืดนั้น เป็นข้อมูลอันหนึ่งที่เป็นประโยชน์ แต่การใช้น้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดนั้นเท่าที่ทราบมามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ถึงลูกบาศก์เมตรละ 40 บาท”  พล.ร.อ.พิเชษฐระบุ

ด้าน มนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง เสริมว่า สถานการณ์น้ำใน จ.ระยอง ทั้ง 5 อ่างหลัก ขณะนี้เหลืออยู่ 137 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณการใช้น้ำวันละ 1.2-1.5 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเร็วๆ นี้ จังหวัดระยองร่วมลงนามความร่วมมือกับทางจังหวัดจันทบุรีในการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนดมาที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ปริมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเริ่มผันน้ำในต้นเดือนมีนาคมนี้

สำหรับลุ่มน้ำภาคตะวันออกในปีหนึ่งจะมีปริมาณน้ำฝนปีหนึ่ง 35,000 ล้าน ลบ.ม. แต่เราเก็บน้ำลงอ่างได้แค่ 10% เท่านั้น จะทำแก้มลิงได้อย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องมาวางแผนระยะยาวร่วมกันร่วมกับสำนักงาน อีอีซี และ จ.ระยอง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในอนาคตได้อย่างแน่นอน ต้นทุนก็ต่ำ มันมาโดยธรรมชาติแต่เราไม่รู้จักเก็บ “เคยเสนอในที่ประชุมของอนุกรรมการเรื่องการทำน้ำทะเลเป็นน้ำจืด โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรอบเรื่องด้านการเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดได้ที่มีราคาไม่แพงมากแล้ว” มนตรีเสนอ

เช่นเดียวกับ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เห็นว่าในระยะสั้น แม้ภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกจะผ่านพ้นสถานการณ์ภัยแล้งไปได้ เพราะมีการผันน้ำ จ.จันทบุรี มาให้ จ.ระยอง

“แต่ยังกังวลต่อภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี จึงเสนอว่าควรเปิดประมูลการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เพื่อผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ที่จะเป็นแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำระยะยาวในพื้นที่อีอีซีได้” ชาญศิลป์ระบุ

ดังนั้น ขณะนี้การผลิตน้ำจืดจากทะเล ยังเป็นข้อเสนอจากภาคเอกชนที่รอความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะไฟเขียวให้เดินหน้าหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image