กสอ.รับลูก”สมคิด”สร้างธุรกิจบริการเกษตรอุตฯครบวงจรครั้งแรกของไทย

กสอ.รับลูก”สมคิด”สร้างธุรกิจบริการเกษตรอุตฯครบวงจรครั้งแรกของไทย จับมือธ.ก.ส.ปั้นเกษตรกรยุคใหม่แสนราย คลอดแพคเกจบีโอไอหนุน-เป็นรูปธรรมต้นปี64 เยี่ยมบ้านถั่วลิสงต้นแบบเอสเอ็มอีรุ่นใหม่

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ได้เร่งยกระดัดภาคการเกษตรไปสู่สมาร์ทฟาร์มมิ่งและเกษตรอุตสาหกรรม โดยมีแนวทางส่งเสริมธุรกิจบริการด้านการเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ล่าสุดได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือเจโทร กรุงเทพฯ บริษัทคูโบต้า และผู้ผลิตจักรกลการเกษตรรายอื่นๆของญี่ปุ่น ผลักดันธุรกิจบริการด้านการเกษตรฯ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับเกษตรกรแปลงเล็ก จัดวางโมเดลธุรกิจ และแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่น เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาใช้บริการ

นายณัฐพล กล่าวว่า การว่าจ้างธุรกิจบริการด้านการเกษตรฯ คือ นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในพื้นที่ของเกษตรกร เริ่มตั้งแต่เพาะปลูก อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงดินให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด จากนั้นจ้างผู้ให้บริการนำเครื่องจักรมาเตรียมดิน และเพาะปลูกพืช พอพืชเติบโตจะมีธุรกิจให้บริการโดรนเข้ามาบินเพื่อตรวจสอบป้องกันศัตรูพืช ตรวจวัดความสมบูรณ์ของพืช รวมทั้งวางระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้น แสงแดด คุณภาพดิน ระบบการจ่ายน้ำที่แม่นยำ ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรในการเพาะปลูก จากนั้นนำเครื่องจักรเข้ามาเก็บเกี่ยว รวมไปถึงการจัดการด้านการตลาดจัดจำหน่ายต่อไป

“แนวทางเหล่านี้ จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหญ่ได้ง่ายในราคาต่ำ เพราะไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรเข้ามาใช้เอง ซึ่งมีราคาแพง และอาจจะใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ รวมทั้งยังทำให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และได้ผลผลิตที่ดีสุด ซึ่งการให้ผลตอบแทนอาจจะเป็นการจ่ายค่าจ้าง หรือการแบ่งปันผลประโยชน์”นายณัฐพลกล่าว

Advertisement

นายณัฐพล กล่าวว่า แนวทางลักษณะนี้คล้ายกับธุรกิจโรงแรม ที่มีแบรนด์โรงแรมระดับโลกได้ให้บริการบริหารจัดการโรงแรม โดยผู้ประกอบการไทยเป็นเจ้าของตึกมีหน้าที่เพียงลงทุนสร้างโรงแรม จากนั้นจ้างแบรนด์เหล่านี้เข้ามาบริหารตั้งแต่การออกแบบโรงแรม การวางระบบ การบริหารจัดการ และการทำตลาดครบวงจรทั้งหมด ซึ่งแบรนด์โรงแรมเหล่านี้มีธุรกิจขนาดใหญ่ มีลูกค้า และซัพพลายเออร์ต่างๆของตัวเอง ทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ จากนั้นก็แบ่งผลประโยชน์จากเจ้าของตึก ซึ่งการจัดทำธุรกิจการเกษตรจะไปในแนวทางนี้ เพราะเกษตรกรไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยี การตลาด หรือการบริหารจัดการสมัยใหม่ จะมาให้เริ่มต้นศึกษาทั้งหมดก็จะไม่ทันการ และไม่ได้ประโยชน์เต็มที่

นายณัฐพล กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการผลักดันธุรกิจบริการด้านการเกษตรฯ จะต้องวางแนวทางส่งเสริมให้ครอบคลุมในทุกด้าน อาทิ การจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) การแก้ไขอุปสรรค์ด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงมาตรการจูงใจอื่น ที่ผ่านมาได้หารือกับทางบีโอไอในเบื้องต้นแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกัน คาดว่ามาตรการส่งเสริมทั้งหมดจะออกมาใช้ได้ภายในต้นปี 2564 หากธุรกิจนี้เกิดมาจะกระตุ้นให้โรงงานสร้างเครื่องจักรผลิตเครื่องจักรการเกษตรเพื่อที่ดินแปลงเล็กมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการผลิตน้อย เพราะเกษตรกรรายเล็กไม่มีเงินทุนมาซื้อ มีเพียงเกษตรกรรายใหญ่ที่มีที่ดินแปลงใหญ่ที่มุ่งไปทางเครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่ ทำให้ในตลาดมีแต่เครื่องจักรการเกษตรสำหรับแปลงใหญ่

นายณัฐพล กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรเป้าหมายส่งเสริมสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ กสอ.ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คัดเลือกเกษตรกรที่เป็นสมาชิกธ.ก.ส.ที่มีศักยภาพ 1 แสนราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า เบื้องต้นจะวางรากฐานของการทำธุรกิจ อาทิ การบริหารจัดการด้านการเงินให้มีใช้เพียงพอตลอดปี เนื่องจากเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะมีรายได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง หรือมีรายได้ตามรอบการผลิต มักมีเงินใช้ไม่เพียงพอทั้งปี ดังนั้นจึงต้องเข้าไปสอนให้บริหารจัดการด้านการเงิน รวมทั้งการปลูกพืชผลชนิดอื่นให้มีรายได้เข้ามาเสริมตลอดทั้งปี เมื่อเข้าใจในเรื่องบริหารการเงิน จากนั้นต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจการเกษตร การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และการทำตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ล่าสุดได้เข้าไปสนับสนุนธุรกิจบริษัท บ้านถั่วลิสง จำกัด ที่แต่เดิมเป็นเพียงผู้ค้าส่งสินค้าเกษตรไปสู่การแปรรูปและการค้าในรูปแบบใหม่

Advertisement

นางอารีย์ เพ็ชรรัตน์ ผู้บริหารบริษัท บ้านถั่วลิสง จำกัด กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมที ไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจ จึงได้เข้ารับการอบรมจาก กสอ. หลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ (เอ็นอีซี-เอสเอ็มอี) ช่วยทำให้มีพื้นฐานและทักษะในการบริหารงานอย่างผู้บริหารมืออาชีพ และมีความเข้าใจด้านบัญชี ด้านการบริหารงานบุคคล และการวางแผนการดำเนินธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากการค้าส่งถั่วสงมาเป็นการนำถั่วลิสงบางส่วนประมาณ 20% มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับบริโภคภายในประเทศ ซึ่งได้ทดลอง ต่อยอดไอเดีย จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถั่วคั่วทราย เค้กถั่ว นมถั่ว ภายใต้แบรนด์นันทบุรี และบ้านถั่วลิสง รวมกว่า 20 ผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ยังได้รับการอนุมัติสินเชื่อ 3 ล้านบาท จากกองทุนประชารัฐ ในอัตราดอกเบี้ย 1% เพื่อสร้างร้านบ้านถั่วลิสง ซึ่งเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงแปรรูป เกิดการบริหารธุรกิจครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แล้ว ที่นี่ยังจะเป็นศูนย์รวบรวมการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปของจังหวัดน่านในเครือข่ายคลัสเตอร์น่านอโกร-อินดัสทรี เป็นศูนย์เรียนรู้ดูงานกระบวนการแปรรูปถั่วลิสง และเกษตรแปรรูปอื่น ๆ รวมถึงเป็นจุดเชคอินสำหรับนักท่องเที่ยวในการซื้อของฝากได้อีกด้วย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image