ข่าวดี! ส่งออก ม.ค.โต 3.35% พลิกบวกครั้งแรกรอบ 6 เดือน พณ.ใจชื้นโควิด-19 ดีต่อส่งออก ลุ้นทั้งปีส่ออกโต 2% (มีคลิป)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 19,626 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวบวก 3.35% ซึ่งกลับมาเป็นบวกครั้งแรกรอบ 6 เดือน ผลจากการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นเริ่มกลับมาเปิดทำการ และการส่งออกทองคำที่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก รวมถึงทิศทางการส่งออกของไทยแนวโน้มเชิงบวกจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวล สินค้าที่ได้รับผลกระทบภายใต้มาตรการสงครามการค้า อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวทั้งในตลาดสหรัฐ และจีน และการขยายตัวของสินค้าดาวรุ่งของไทย อาทิ ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่ม ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม หักทองคำและน้ำมันการส่งออกไทยเดือนมกราคม 2563 ลบ 0.6%

ขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 21,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลบ 7.86% จากฐานสูงของการนำเข้าอาวุธเพื่อซ้อมรบและการนำเข้าทองคำลดลง เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัย การนำเข้าไทยเดือนมกราคม 2563 หดตัวเล็กน้อยเพียง 0.17% โดยการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 5.8% ในกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบบวกถึง 18.7 สูงสุดในรอบ 2 ปี จึงส่งผลให้เดือนมกราคมขาดดุลการค้า 1,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“การส่งออกไทยเดือนมกราคม ถือเป็นการขยายตัวประเทศเดียวในภูมิภาคแถบนี้ สะท้อนถึงความเข้มแข็งของพื้นฐานการส่งออกไทย ที่สามารถกระจายตัวได้ดีทั้งในด้านสินค้าและตลาด ทำให้ประคองตัวได้จากปัจจัยความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกบวกมาจากส่งออกน้ำมันและทองคำค่อนข้างมาก และยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 ผลกระทบจากเทรดวอร์เริ่มลดน้อยลงและกำลังอยู่ในช่วง rebound อีกทั้งหากปัญหาไวรัสคลี่คลายได้เร็ว จะทำให้การส่งออกกลับมามีแรงขับเคลื่อนได้จากนี้ แนวโน้มตัวเลขส่งออกเดือนกุมภาพันธ์มีโอกาสติดลบอยู่ และตัวเลขส่งออกในไตรมาสแรกยังผันผวนได้ทั้งติดลบและบวก แต่มั่นใจจากพื้นฐานศักยภาพสินค้าไทยที่หลากหลายและความต้องการนำเข้าสินค้าทั้งอาหาร เกษตร และซัพพลายเชนต่างๆ หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกไทย ซึ่งหากไทยยังส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 2.0-2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะทำให้ส่งออกทั้งปี 2563 ขยายตัว 0% ถึงบวก 2% เชื่อว่าโอกาสเป็นบวกสูงมากในปีนี้” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับตัวเลขเป้าหมายการส่งออก 2563 นั้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมีการประชุมทูตพาณิชย์และรับมอบนโยบาย ก็จะได้รับทราบตัวเลขอย่างเป็นทางการ รวมถึงแผนงานการทำตลาดส่งออก ซึ่งในส่วนนี้ยังคงการเปิดตลาดตามนโยบายรองนายกฯ กำหนดไว้มุ่งขยายตลาดใน 18 ประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ รัสเซีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งในส่วนของ สนค.ได้นำเสนอการรุกตลาดในสินค้า 20 กลุ่มดาวรุ่งที่มอัตราการขยายตัวดีต่อเนื่องและไทยมีศักยภาพสูง เช่น ผลไม้ ไก่ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้ ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 6.3% สินค้าขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย 18.6% ยางพารา ขยายตัว 12% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 9.5% เครื่องดื่มขยายตัว 2.8% ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ข้าว 34% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง และแปรรูป 20.3 % ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 16.6% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป 28.7% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 5.2%สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ 299.6 % รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ 35.4% เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วน 29.9% เป็นต้น ในส่วนตลาดส่งออก เช่น สหรัฐ ขยายตัว 9.9% จีนขยายตัว 5.2% และตลาดอาเซียน 3.8% ส่วนตลาดอื่นๆ ติดลบเล็กน้อย

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า ส่วนเรื่องผลกระทบของไวรัสโควิด-19 กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการส่งออกและในประเทศ โดยกำลังอยู่ระหว่างการเสนอมาตรการให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ในส่วนภาคส่งออก ผู้ส่งออกและผู้ผลิตไทยต้องมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าอาหารและเกษตร ที่จะมีดีมานด์มากขึ้นในอนาคตหลังจากปัญหาไวรัสผ่อนคลายลงอย่างแน่นอน โดยภาครัฐจะช่วยดูแลหามาตรการรองรับและช่วยเหลือในระหว่างนี้ เพื่อมิให้มีอุปสรรคทางการค้าในช่วงต่อไป โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญทั้งจีนและสหรัฐ ที่ขยายตัวได้ถึง 5.2% และ 9.9% ตามลำดับ ในเดือนมกราคม อีกทั้งสัญญาณที่ดีจากนำเข้าเครื่องจักรขยายตัว 18.7% สะท้อนความต้องการกำลังการผลิตและนำเข้าช่วงที่เงินบาทแข็ง รวมถึงสัญญาณการย้ายฐานมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างรถยนต์แม้การผลิตแบบเดิมอาจน่าห่วงแต่ก็ยังมีเรื่องรถไฟฟ้าที่ไทยต้องเร่งในการผลิตและหาตลาด

“โควิด-19 นั้น ส่งออกยังได้ประโยชน์ ครึ่งปีหลังเชื่อว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ดีจากความต้องการหลังโควิดคลี่คลายลง แต่ในประเทศน่าห่วงกว่า กระแสโควิด-19 กระทบต่อการชะลอตัวของการจับจ่ายใช้สอยลดลงและมูลค่าจากการท่องเที่ยวหายไป อีกทั้งกังวลเรื่องผลกระทบจากภัยแล้งที่ปีนี้จะรุนแรงแน่นอน จะมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ เรื่องนี้ทาง สนค.กำลังหารือทุกฝ่ายและเตรียมนำเสนอมาตรการต่างๆ ที่จะผ่อนคลายผลกระทบ เช่น กำลังหารือจัดงานลดราคาสินค้าเน้นการรณรงค์ใช้ของไทยเที่ยวไทย เป็นต้น” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image