‘มทร.พระนคร’ ปักหมุดปลูกกัญชาครั้งแรกใน กทม.

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ศ.(พิเศษ) นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เป็นประธานเปิดอาคารโรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ระบบปิดต้นแบบ (CANNABIS PREMIUM MEDICAL GRADE @ SCI-RMUTP INDOOR CULTIVATION FACTORY PLANT) และเป็นประธานในพิธีปลูกกัญชาทางการแพทย์ต้นแรกของกรุงเทพมหานคร ที่โรงเรือนปลูกกัญชามาตรฐานระบบปิดของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร ศูนย์พระนครเหนือ โดยมี นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดร.วนิชย์ ปักษ์กิ่งเมือง คณะผู้บริหาร มทร.พระนคร และท่านผู้มีเกียรติจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และ เอกชน ร่วมในพิธี

ศ.(พิเศษ) นพ.สำเริง แหยงกระโทก ร่วมกับ นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล ได้มอบหนังสือสำคัญ (ใบอนุญาต) การปลูกกัญชาทางการแพทย์และหนังสือสำคัญ (ใบอนุญาต) การสกัดกลั่นสารสำคัญจากกัญชา การสกัดกลั่นน้ำมันกัญชาคุณภาพ (Medical Grade) เพื่อใช้ในโรงพยาบาลเป้าหมาย และ การสกัดกลั่นสารสำคัญ CDB99%+ ให้กับ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.พระนคร โดยมี ผศ.เฟื่องฟ้า เมฆเกรียงไกร ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร์ และ ดร.ไพศาล การถาง ร่วมรับมอบ

การจัดงานในครั้งนี้ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ ได้กล่าวต้อนรับ ศ.(พิเศษ) นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และ ท่านผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน และ กล่าวถึงพันธกิจของ มทร.พระนคร ที่ต้องการจะสร้างคุณภาพและมาตรฐานทางด้านงานบริการทางวิชาการและบริการสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (อว) โดยเฉพาะในด้านงานวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากฐานงานวิจัยไปสู่การต่อยอดและขยายผลให้เกิดเป็นมูลค่าสูง ทั้งในทางมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และ การให้บริการสังคม โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการดำเนินงานโครงการกัญชาทางการแพทย์ในครั้งนี้ ก็เป็นความมุ่งหวังที่ มทร.พระนคร ต้องการจะสร้างเป็นต้นแบบนำร่องในเชิงวิจัยที่จะขยายผลต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงได้ในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล การดำเนินโครงการกัญชาในเชิงวิจัยนี้ มทร.พระนคร ต้องการที่จะสร้างมาตรฐานกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย (Standards) ควบคู่กับการพัฒนาหลักสูตรให้สามารถตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนประเทศ (First S-Curve & New S-Curve) และการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อสร้างบุคคลให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้น (Workforce) รวมถึงการจัดการหลักสูตรแบบเก็บหน่วยกิต ทั้งในรูปแบบ Non Degree, New Entrepreneur และ Start up เป็นต้น

Advertisement

โดย ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร ในฐานะผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินโครงการวิจัยและศึกษาพัฒนากัญชาทางการแพทย์ ได้กล่าวขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัย ที่สนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ และกล่าวขอบคุณในความเมตตาของ ศ.(พิเศษ) นพ.สำเริง แหยงกระโทก ที่ให้ทั้งกำลังใจและให้เกียรติเป็นประธานในพิธีทุกครั้ง ทั้งที่โรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ระบบปิดมาตรฐานที่ รพ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา และ ที่ มทร.พระนคร ศูนย์พระนครเหนือ ซึ่งทั้งสองแห่ง จะเป็นแหล่งปลูกกัญชาทางการแพทย์เพื่อการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่ให้ปริมาณสารสำคัญสูง การสร้างสายพันธุ์ที่ดีในระบบการผลิตน้ำมันกัญชาคุณภาพสูง (CBD Oil Purify) และการพัฒนาคุณภาพการผลิตสาร CBD Isolate (CBD99%+) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงในทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับวงการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยเริ่มต้นที่การสร้างมาตรฐานแรกคือ เมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์กัญชา สารสำคัญที่ได้ต้องมีคุณภาพและมีความปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีโลหะหนัก ไม่มียาฆ่าแมลง หรือเชื้อราเจือปน ผลผลิตที่ได้นั้น เหมาะสมที่จะใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการปรุงตำรับยา และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม คอสเมติก ซึ่งล้วนแล้วแต่จะสร้างห่วงโซ่การผลิตที่ต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกิดนวัตกรรมทางสังคมของการประยุกต์ใช้กัญชาในการรักษาผู้ป่วยและดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก การแพทย์ประยุกต์ และ กลุ่มหมอพื้นบ้าน ให้มีองค์ความรู้มากขึ้น เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเกษตรอัจฉริยะ เกษตรสมัยใหม่ เกษตรปลอดภัย เทคโนโลยีชีวภาพ และ เทคโนโลยีสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ ล้วนเป็นพันธกิจที่สอดประสานกันของโครงการกัญชาทางการแพทย์ มทร.พระนคร

ศ.(พิเศษ) นพ.สำเริง แหยงกระโทก ได้กล่าวขอบคุณ มทร.พระนคร ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นให้กับโครงการกัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ตามที่ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา และ สอดคล้องกับนโนบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ต้องการให้กัญชาทางการแพทย์เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพนับล้านคนในขณะนี้ โดยเฉพาะในเวลานี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้นำร่องในเรื่องการเปิดให้บริการคลินิกกัญชาไปแล้วที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีประชาชนมารับการบริการไม่น้อยกว่า 300-400 คน ต่อวัน โดยมียอดลงทะเบียนแล้วกว่า 25,000 คน และคาดว่าจะทะยอยเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป โดยในขณะนี้ ตนเอง ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ ร่วมกับทีมคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล) ผู้แทนจากกรมต่างๆ และสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอแนวคิด การขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ในระดับเขตสุขภาพ จังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน กล่าวคือ การเริ่มตั้งแต่กระบวนการระดับต้นน้ำ คือ การปลูกที่มีมาตรฐาน ทั้งแบบโรงเรือนปลูกแบบปิด และ กรีนเฮาส์ ในทุกจังหวัดต้องมีอย่างน้อย 1-2 แห่ง ระดับกลางน้ำ คือ ต้องมีที่แปรรูป อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ที่มีมาตรฐานการผลิต ทั้งในรูปแบบ 16 ตำรับแพทย์แผนไทย สูตรตำรับใหม่ น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย และ ระดับปลายน้ำ คือ มีทั้งในรูปแบบการรักษาผู้ป่วยใน รพศ. รพช. รพ.สต.และ กัญชาเชิงท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness Tourism) และขยายผลไปสู่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ คลินิกการแพทย์แผนไทย กลุ่มสหวิชาชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่ของ รพ.สต.ที่มีแพทย์แผนไทย หรือมีหมอพื้นบ้าน ร่วมให้การวินิจฉัยและดูแลรักษาในรูปแบบการรักษาเฉพาะราย ซึ่งจะสร้างปรากฏการณ์ ^กัญชาใต้ดิน ให้เป็น กัญชาสู่บนดิน^ สร้างความเชื่อมั่นว่า กัญชาคือสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ให้คุณค่าทางการรักษาทางการแพทย์และการสาธารณสุข ประชาชนได้ประโยชน์และมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งในเดือนมีนาคม 2563 นี้ กระทรวงสาธารณสุข จะได้ขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ในระดับ รพ.สต.และ รพช.รวม 59 แห่ง ครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ 35 จังหวัด เพื่อจะเป็นต้นแบบนำร่องในระดับท้องถิ่น โดยต้องขอขอบคุณ มทร.พระนคร ที่จะเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบการดำเนินโครงการ ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ มทร.พระนคร จะทำการลงนาม MOU กับ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในเร็วๆ นี้ และกำหนดจัดประชุมสัมมนาการปักหมุดกัญชาทางการแพทย์ กลุ่มที่ 2 จำนวน 59 รพ.สต.และ รพช.ในวันที่ 11-12 มีนาคม 2563 ณ กระทรวงสาธารณสุข และ ที่ มทร.พระนคร โดยจะได้เรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน

Advertisement

การจัดงานในครั้งนี้ ดร.วนิชย์ ปักษ์กิ่งเมือง ในฐานะประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมนวัตกรรมกัญชาทางการแพทย์ ในนามศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม มทร.พระนคร และ ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร ได้เป็นผู้แทนมอบการสนับสนุนจัดสร้างโรงเรือนปลูกกัญชาและสกัดกลั่นน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ในระดับ รพ.สต.และ รพช. โดยมี ศ.(พิเศษ) นพ.สำเริง แหยงกระโทก และ นพ.ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล เป็นผู้รับมอบ ซึ่งมีผู้แทนจากวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (CE) อาทิ คุณมนู ธารพิพิธชัย คุณไพศาล เจริญจรัสสกุล คุณไพศาล บัณฑิตยานนท์ คุณวิศารท์ พจน์ประสาท และ ผู้แทนจากบริษัท HIP ให้เกียรติร่วมในพิธีมอบการสนับสนุน ซึ่งพร้อมที่จะร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมกัญชาทางการแพทย์สู่ รพ.สต. รพช. และชุมชน ตามพันธกิจ ร่วมกับ มทร.พระนคร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image