มธ. เปิดตัว ‘หน้ากากอนามัย’ ใช้ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์ ในภาวะขาดแคลน

มธ. เปิดตัว ‘หน้ากากอนามัย’ ใช้ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์ ในภาวะขาดแคลน

เมื่อวันที่ 10  มีนาคม ที่คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ศูนย์รังสิต รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา อาจารย์ ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ร่วมกันแถลงข่าว ผลิตหน้ากากอนามัยเทคโนโลยีสะท้อนน้ำป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 เพื่อบุคลากรทางการแพทย์

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

รองศาสตราจารย์ เกศินี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโควิด19 โดยมีแหล่งกำเนิดเชื้อที่เมืองอู่ฮั่นของประเทศจีนตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบันนั้น ได้แพร่ระบาดครอบคลุมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยองค์กรอนามัยโลกได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 3,831 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมรวม 110,107 ราย ขณะที่ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปรายงานผลการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนทั้งหมด 50 ราย

Advertisement

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและมีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข จึงได้จัดตั้งคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด19 ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของประชาคมธรรมศาสตร์ และหน่วยงานภายนอก อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับมือสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ด้าน ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ประธานคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 2019 โควิด19 กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย จะอยู่ในเฟส 2 แต่ปัจจุบันการบริหารห่วงโซ่อุปทานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ “หน้ากากอนามัย”กลับขาดแคลนจำนวนมาก จากความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทั่วประเทศที่สูงกว่า 30-40 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งสวนทางกันกำลังการผลิตของภาคโรงงานรวม 10 โรง ที่สามารถผลิตได้ประมาณ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายหรือติดเชื้อไวรัส ตลอดจนลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และภาคประชาชน คณะทำงาน จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัย คุณสมบัติผ้าที่เหมาะสม ในการพัฒนา “หน้ากากผ้ากันน้ำเพื่อใช้ในทางการแพทย์” หน้ากากผ้าทางเลือก ที่ผลิตจากวัสดุผ้าสะท้อนน้ำ ไม่ดูดซับความชื้น และช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อ

ขณะที่ อ.ธนิกา กล่าวเสริมว่า “หน้ากากผ้ากันน้ำเพื่อใช้ในทางการแพทย์”นั้น เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างผ้าที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ และเหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่งเบื้องต้น เพื่อใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนในขณะนี้ โดย“ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์”มีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม ประกอบด้วยจำนวนเส้นด้าย 500 เส้นต่อ 10 ตารางเซนติเมตร โดยมีเส้นด้ายยืนโพลีเอสเตอร์ ไฟเบอร์ เบอร์ 75 เส้นด้ายพุ่งโครงสร้างเส้นใยฝ้ายคอมแพ็คโคมบ์เบอร์ 40

นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตการใช้เทคโนโลยีสะท้อนน้ำด้วยสาร ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอน สามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้า เพื่อต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้าได้ ได้รับการรับรองจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง ซึ่งทางคณะทำงานฯ กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน และความคงทนของเส้นใย ว่ายังคงประสิทธิภาพเดิมหรือไม่ เมื่อนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้ามาตรฐานทั่วไป ดังนั้น “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งวัสดุทางเลือกในการผลิตเป็นหน้ากากผ้าเพื่อใช้ป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด19 ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป

“อย่างไรก็ดี ในภาคประชาชน ยังสามารถประดิษฐ์ “หน้ากากผ้า D.I.Y. ด้วยผ้านิตเจอร์ซี่” เพื่อใช้ป้องกันสารคัดหลั่งจากการไอหรือจาม ทดแทนหน้ากากอนามัยในภาวะขาดแคลน เนื่องจากโครงสร้างผ้านิตเจอร์ ซี่งจะมีลักษณะคล้องกัน เป็นห่วงตลอดทั้งผืนโดยที่ผ้าด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นแนวตั้ง ส่วนผ้าด้านหลังมีลักษณะเป็นห่วงแนวนอน อีกทั้งยังเป็นผ้าถักที่มีความยืดหยุ่น สวมใส่สบาย น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี สามารถซักและใส่ซ้ำได้” อ.ธนิกา กล่าว

 

ด้าน ผู้ช่วยศ.ดร.ณัฐธนนท์ กล่าวเสริมว่า คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สำหรับบุคลากรและนักศึกษาภายในคณะ โดยกำหนดให้มีรอบการทำความสะอาดเพิ่มมากขึ้นในบริเวณที่มีการใช้งานสูง จัดทำเจลแอลกอฮอล์ 70% ประจำจุดสำคัญต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะฯ เนื่องจากมีการติดต่อราชการบ่อยครั้ง อีกทั้งมีมาตรการในการคัดกรองโดย การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคารเรียน และมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดูแลตนเองเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้แก่นักศึกษาและบุคลากร เพราะมาตรการเหล่านี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคน ได้มีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 19

นอกจากนี้ สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ยังได้ร่วมกับ คณะทำงานฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และภาคเอกชน เดินหน้าผลิตหน้ากากผ้าภายใต้กิจกรรม “ธรรมศาสตร์รวมใจต้านภัยโคโรนา” เพื่อส่งเสริมการทำหน้ากากผ้าชนิดอื่น ๆ ที่สามารถใช้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแก่บุคลากรและนักศึกษา มธ. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสามารถสอบถามได้ที่ กองกิจการนักศึกษาโทรศัพท์ 02-564-2924 ,02-564-4408 สำหรับผู้ที่สนใจวิธีการตัดเย็บหน้ากากผ้าเพื่อทดแทนกับหน้ากากอนามัยในช่วงที่ขาดแคลน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 สร้างความตื่นตระหนกของคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทย หนึ่งในแนวทางการป้องกันที่ดี คือการสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการกระจายตัวของโรค ส่งผลให้หน้ากากอนามัยขาดแคลนอยู่ใน ขณะนี้ทางมธ.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ศึกษาโครงสร้างเส้นใยของผ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สำหรับการประดิษฐ์หน้ากากผ้า เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสโควิด 19  ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทย  ผลการศึกษาเส้นใยผ้านิตเจอร์ซี่ มีลักษณะคล้องกันเป็นห่วงตลอดทั้งผืน โดยที่ผ้าด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นแนวตั้ง ส่วนผ้าด้านหลังมีลักษณะเป็นห่วงแนวนอน จึงทำให้ผ้ามีโครงสร้างเป็นผ้าถักและทำให้ผ้ามีความยืดหยุ่น สวมใส่สบาย มีน้ำหนักเบา และที่สำคัญสามารถระบายอากาศได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่ฤดูร้อน

ทั้งนี้ หน้ากากผ้าดังกล่าวมีต้นทุนการผลิต 15-20 บาทต่อชิ้น โดยข้อดีของการ D.I.Y. หน้ากากผ้าคือ สามารถซักและใส่ซ้ำได้ สามารถดีไซน์ได้ตามต้องการ และไม่ซ้ำใครผ้านิตเจอร์ ซี่งสามารถซื้อได้ตามร้านจำหน่ายผ้าทั่วไป ปกติแล้วหน้ากากผ้าทั่วไปที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะมีความสามารถในการช่วยคัดกรองสารคัดหลั่ง ไอ จาม เท่านั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และฆ่าเชื้อไวรัสบริเวณหน้ากากผ้าจึงควรนำสเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ฉีดลงบนหน้ากากผ้า โดยฉีดซ้ำทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงหรือทุกครั้งที่มีการใช้หยิบจับหน้ากากแล้วรอ 2-3 นาทีก่อนสวมใส่แต่ทั้งนี้การฉีดแอลกอฮอล์ 70% ลงบนหน้ากากผ้าอาจจะมีข้อจำกัดในการใช้งานบางประการ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการแพ้บนผิวหน้า ซึ่งเป็นบริเวณผิวที่บอบบางได้

ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวเสริมอีกว่า ทาง มธ.เราได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้สังคม ให้สังคมเอาไปทำเองได้ แต่สิ่งที่เราทำมาเบื้องต้นเพื่อมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ แต่สำหรับประชาชนทั่วไป หลังจากได้ผ้าชนิดนี้ก็สามารถนำองค์ความรู้นี้ ไปทำเพื่อช่วยตัวเองเพราะเราไม่ได้เน้นทำขาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image