ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของไทยหนนี้ จะลงลึกขนาดไหน : สมหมาย ภาษี

บัดนี้คนไทยทั้งประเทศก็ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยเราขณะนี้เป็นอย่างไร แล้วทั้งปีนี้จะหนักหนาสากรรจ์อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยเขียนมาก่อนตั้งแต่ปลายปี 2562 ว่า “ไม่อยากมองเศรษฐกิจปีหน้า” (มติชนวันที่ 6 พ.ย.62) เพราะเห็นว่าผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐนั้นได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างแรง แต่รัฐบาลก็เอาแต่แจกเงิน แถมด้วยการนำนโยบาย ชิม ช้อป ใช้ มาหว่านให้ประชาชนที่ไม่ค่อยอีโหน่อีเหน่ใช้กัน

ต่อมาต้นเดือนมกราคม 2563 ก็ได้ย้ำให้เห็นชัดในบทความเรื่อง “2563 ปีเศรษฐกิจสุดระบม” (มติชนวันที่ 7 ม.ค.63) โดยได้ชี้ให้เห็นว่าจุดเสี่ยงของไทยในปี 2563 นี้ มีถึง 4 เรื่อง คือ การส่งออกไม่มีโอกาสจะดีกว่าปี 2562 ที่ผลออกมาติดลบถึงร่วม 2% อีกจุดเสี่ยงคือการลงทุนภาครัฐมีแต่ความล่าช้างัดไม่ขึ้น จุดเสี่ยงที่เห็นชัดอีกอย่างคือประชาชนระดับรากหญ้าถูกกดทับด้วยภาระหนี้สินแสนสาหัส และจุดเสี่ยงสุดท้ายคือ การไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไรของรัฐบาล

ในช่วงหลังของเดือนมกราคมก็ได้เขียนบทความอีก 2 เรื่อง คือ “การบริหารเศรษฐกิจติดหล่ม”
(มติชนวันที่ 15 ม.ค.63) และ “เมื่อไหร่ไทยเราจะสู้กับเขาได้” (มติชนวันที่ 29 ม.ค.63) ซึ่งได้เน้นให้เห็นว่ารายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเกี่ยวกับการจัดอันดับคอร์รัปชั่นปี 2562 ของประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าประเทศไทยได้ติดอันดับตัวเลขสามหลักอีกแล้ว คือได้อันดับที่ 101 จากประเทศทั้งหมด 180 ประเทศ ซึ่งการคอร์รัปชั่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดตลอดมาที่ดึงไม่ให้ประเทศไทยเดินหน้าได้

ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดก่อนวันตรุษจีนเมื่อปลายเดือนมกราคมปีนี้ เป็นเรื่องเศรษฐกิจที่เกิดจากพิษของสงครามการค้าโลกระหว่างจีนกับสหรัฐล้วนๆ เท่านั้นเอง ซึ่งในช่วงนั้น นักวิชาการตลอดจนนักลงทุนทั้งหลายต่างก็รู้ดีว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเราจะโดนกระทบหนักอย่างไร และเราจะซวนเซแค่ไหนในบรรยากาศที่รัฐบาลยังคงชูแค่นโยบายชิม ช้อป ใช้

Advertisement

และแล้วสิ่งที่ยิ่งใหญ่และร้ายกาจกว่าสงครามการค้าโลก สิ่งที่เทวดาฟ้าดินได้ลิขิตและแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรื่องที่มนุษย์ทำแล้วทะเลาะกันจนเป็นสงครามนั้น มันแค่ตัวเรียกน้ำย่อยเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่มาโดยธรรมชาติที่ฟ้าส่งมานี้มันทำร้ายชนทุกชั้น ยิ่งคนรวยยิ่งเดือดร้อนหนัก นั่นก็คือโคโรนาไวรัส หรือที่มีการเรียกชื่อเป็นทางการว่า “โควิด-19” ซึ่งเวลานี้ได้ก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรงแค่ไหนก็เห็นชัดกันอยู่แล้ว ณ วันที่ท่านผู้อ่านกำลังเห็นอยู่นี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั่วโลกได้แตะระดับ 110,000 คนไปแล้ว ในจำนวนนี้ได้ตายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,800 คน

ช่วงที่โคโรนาไวรัสแพร่ระบาดได้ไม่ถึงเดือนผมได้นำเสนอบทความเรื่อง “ไม่ถึงกับปิดเมือง
ไทยก็ปางตายอยู่แล้ว” (มติชนวันที่ 12 ก.พ.63) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว สำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” ยังได้บอกว่า ไวรัสโคโรนา ทำให้ประเทศไทยป่วยหนัก เพราะก่อนเกิดไวรัส
อันร้ายกาจนี้เศรษฐกิจไทยก็มีอาการป่วยอยู่แล้ว ซึ่งในบทความของผมครั้งนี้ได้กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.2% ก็เก่งมากแล้ว

การระบาดของไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นได้แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง ทำให้ความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจขยายตัวเร็วเกินกว่าที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจะประเมินได้ทัน จะเห็นได้จากการประเมินผลทางเศรษฐกิจของสำนักต่างๆ ที่ต้องเปลี่ยนตัวเลขกันเป็นรายเดือนทีเดียว เริ่มต้นปี 2563 หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ได้วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและได้พยากรณ์ตัวเลขออกมาว่าปี 2563 นี้ GDP จะขยายตัวได้ในอัตรา 2.6-3.7% และการส่งออกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.3% นี่เป็นการเพิ่มจากการติดลบ 2% ในปีที่แล้วนะครับ

Advertisement

แต่พอถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ก็ได้ลดการขยายตัวของ GDP ลงเหลือ 1.5-2.5% เท่านั้น อย่างนี้เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” แล้ว

มาถึงต้นเดือนมีนาคมนี้ สำนักพยากรณ์ทั้งหลายชักจะไม่กล้าทำนายทายทักกันอีก เพราะอาจใช้เวลาไปรักษาหน้าที่แตกจนเลือดโชกอยู่ก็ได้ จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ต้นเดือนมีนาคมนี้ ก็มีการพยากรณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่น่าจะเป็นจริงโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการพยากรณ์การหดตัวทางเศรษฐกิจในปี 2563 เสียมากกว่า ดูกันให้ชัดๆ เฉพาะตัว GDP และการส่งออกแล้ว ก็จะบ่งบอกถึงอาการป่วยทางเศรษฐกิจของไทยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีได้ชัดเจน

ข้อแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฟันธงเลยว่า GDP ไทยจะขยายตัวแค่ 0.5% จากประมาณการเมื่อเร็วๆ นี้ที่หลายสำนักบอกว่าจะอยู่ที่ 2.7% ทั้งนี้ บนสมมุติฐานที่ว่าจีนสามารถควบคุมผู้ติดเชื้อไวรัสได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้า และประเทศที่มีการติดเชื้อใหญ่ๆ เช่น อิตาลีและเกาหลีใต้ สามารถควบคุมได้ในไตรมาส 2 คือไม่เกินเดือนมิถุนายน และที่สำคัญในไทยจะไม่มีปรากฏการณ์ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อที่สอง การส่งออก ใช้ฐานตัวเลขศุลกากรในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ปี 2563 นี้ จะลดลงเป็น -5.6% เทียบกับปีที่แล้วซึ่งลดลงเหมือนกันที่ -2.7% การลดลงของการส่งออกนี้ยังไม่รวมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก ได้มีการประมาณการว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะลดลงถึง 8 ล้านคน จากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 39 ล้านคน ก็จะยิ่งทำให้ตัวเลขการส่งออกของสินค้าและบริการคือรวมการท่องเที่ยวด้วยในปีหน้าจะลดต่ำลงจากปีที่แล้วถึง -10% ได้ไม่ยาก

ท่านผู้อ่านทั้งหลายเมื่อได้ฟังตามการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจข้างต้นก็คงต้องถามว่า ถ้าไม่เป็นไปตามนี้อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยของเรา เรื่องนี้ผมขอตอบได้เลยว่า สิ่งที่การคาดการณ์ข้างต้นได้กล่าวไว้นั้น เป็นความพยายามที่จริงจังตามหลักวิชาการในการเข้ามาดูบาดแผลทางเศรษฐกิจของไทย แต่ยังไม่ลึกพอ แม้นว่าโรคระบาดโควิด-19 จะถูกควบคุมได้ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้าก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นจุดเสี่ยงสำคัญๆ ของไทยยังคงมีอยู่ มันก็ไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจผงกหัวขึ้นมาได้ ตรงกันข้ามจะยิ่งดำดิ่งลงไปอีก

เชื่อเถอะครับว่า GDP ปี 2563 ของไทยจะติดลบแน่ๆ หนักยิ่งกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้พยากรณ์ไว้ เพราะจุดเสี่ยงสำคัญๆ ที่ไม่อาจขจัดออกไปได้ยังคงผงาดอยู่ ซึ่งจะยิ่งร้ายแรงถึงกับเหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ถอยหลัง ที่สำคัญหนี้ครัวเรือนที่แย่มากอยู่แล้วจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีกถึงเกินกว่า 80% ของ GDP ภายในเดือนสองเดือนข้างหน้านี้ ไม่ทราบว่าประชาชนชั้นรากหญ้าจะอยู่กันได้อย่างไร

การส่งออกของสินค้าที่ว่าตัวเลขเป็นบวกในเดือนมกราคมปีนี้ จะไม่มีให้เห็นอีกแล้วต่อจากนี้ เที่ยวบินทั้งหลายที่หดหายไปจากน่านฟ้าไทยจำนวนสัปดาห์ละเกือบ 100 เที่ยว แม้โคโรนาไวรัสจะถูกควบคุมได้บ้าง เที่ยวบินที่จะมาไทยก็จะไม่สามารถฟื้นตัวได้ดังเดิม การผลิตด้านอุตสาหกรรมที่เป็นห่วงโซ่ที่มีทีท่าจะไปได้ไม่ไกลจากผลกระทบของสงครามการค้าโลก คราวนี้อาจจะขาดสะบั้นด้วยน้ำมือของโควิด-19 ซึ่งในอนาคตจะกลับมาสู่วงจรเดิมได้ถึง 50% หรือเปล่าก็ไม่รู้

และที่สำคัญที่สุด การกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนในปีนี้ที่ติดหล่มจากงบประมาณปี 2563 ที่ออกมาช้าถึงครึ่งค่อนปีนั้น ก็จะเร่งเครื่องไม่ออกโดยรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นถือว่าเป็นบาดแผลที่ลึกจนแทบจะห้ามเลือดของเศรษฐกิจไทยไม่อยู่แล้ว แต่ถ้ามองให้ทั่วต่อไปอีกก็จะพบว่าแผลใหม่ที่จะทำให้เสียเลือดเพิ่มเติมก็กำลังเกิดขึ้นให้เห็น นั่นก็คือภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน และที่จะไม่มีทางหลีกเลี่ยงก็จะมีให้เห็นเร็วๆ นี้ มันจะเป็นภัยที่จะทำให้ผลการเพาะปลูกของภาคเกษตรลดลงอย่างที่ไม่เคยมีสถิติให้เห็นมาก่อนก็ได้ แต่ที่จะซ้ำเติมเข้าไปอีกจากเรื่องที่เห็นๆ อยู่ ก็คือราคาพืชผลส่วนใหญ่ของไทยที่ยังคงตกต่ำอยู่แล้วจะไม่มีทางกระเตื้องขึ้น เมื่อทั้งสองปัจจัยหลักทางด้านการเกษตรเกิดขึ้นพร้อมๆ กันเช่นนี้ รัฐบาลเทวดาไหนก็จะไม่มีปัญญามาแก้ไขได้ นี่อาจไม่ใช่จุดเสี่ยงแต่จะเป็นจุดหายนะของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่างหาก

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเป็นวาระพิเศษเพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากโรคระบาดโควิด-19 ที่บอกว่าเป็นมาตรการระยะสั้น 2 เดือน ซึ่งตามข่าวทราบว่าคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ให้ความเห็นชอบอย่างเต็มพิกัด ซึ่งเข้าใจว่าจะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน หรือก็คือใช้เงินจากภาษีเป็นหลัก แต่จะใช้เงินกู้จากธนาคารของรัฐที่ดอกเบี้ยต่ำแล้วรัฐอุดหนุนดอกเบี้ย เป็นต้น มาตรการที่สำคัญ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ให้ SME ที่มีปัญหาโดยการยืดระยะเวลาชำระเงินต้นให้ การนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษแก่ผู้ประกอบการ SME นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดและยกเว้นภาษีเป็นมาตรการเบี้ยหัวแตกเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น แต่ที่สำคัญจะขาดเสียมิได้ คือมาตรการแจกเงินช่วยคนจน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มอาชีพอิสระ และเกษตรกร คนละ 2 พัน คราวนี้เป็นการแจกก้อนใหญ่ พยายามจะแจกให้คนจนอย่างทั่วถึงอะไรปานนั้น โดยจะจ่ายเงินให้เดือนละ 1,000 บาท ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้

การแจกเงินครั้งนี้ได้มีการชี้แจงให้ประชาชนได้ฟังจากทั้งข้าราชการระดับอธิบดี และจากท่านนายกรัฐมนตรี ประธาน ครม.เศรษฐกิจเองด้วย ฟังได้ว่าขอให้ประชาชนเชื่อถือความพยายามที่รัฐบาลนี้จะช่วยแก้ไขปัญหา ขอโปรดอย่าคิดว่ารัฐบาลนี้ทำเป็นแต่การแจกเงิน ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลไทยเท่านั้นที่แจกเงินช่วยคนจน แต่รัฐบาลของสิงคโปร์และฮ่องกงเขาก็แจกเงินเหมือนกัน การแถลงเช่นนี้นับว่าได้รับการยอมรับและความเชื่อถือจากประชาชนผู้เสียภาษีไม่มากก็น้อย

ผมฟังแล้วกลับเห็นตรงกันข้าม ซึ่งตอนแรกคิดว่ารัฐบาลโดยการเสนอของกระทรวงการคลังเป็นผู้คิดเอง คือการแจกเงินนั้นก็ทราบดีว่ามีการแจกปกติอยู่แล้ว โดยใช้งบประมาณปกติซึ่งมีไม่มากสำหรับแจกคนจนจริงๆ โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่เมื่อนำเงินมาแจกมากๆ ฟังดูจากชนชั้นกลางผู้เสียภาษีเงินได้ให้รัฐมีคนเห็นด้วยไม่เท่าไหร่ แต่เห็นว่าเป็นการทำประชานิยมแบบทื่อๆ และเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเสียมากกว่า

เมื่อได้ฟังจากคนของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลที่ออกมาชี้แจงเรียกความเชื่อถือจากประชาชนว่า เราไม่ได้ทำแต่ผู้เดียวรู้ไหม ประเทศสิงคโปร์ก็แจก ฮ่องกงก็แจก แจกมากกว่าคนละพันบาทเสียอีก ทำให้ต้องคิดไปอีกทางว่า รัฐบาลๆ นี้คิดทำอะไรเองไม่เป็น ทำได้แค่เอาอย่างประเทศอื่นเท่านั้นหรือ หากเป็นการเอาอย่างที่ดีก็ไม่ว่ากัน แต่นี่เอาอย่างโดยไม่ได้คิดแต่เรื่องแจกเงินนี้ ถูกชักออกไม่เข้า ครม.ใหญ่แล้ว โดยประธาน ครม.เศรษฐกิจเอง

สิงคโปร์มีประชากรแค่ 5.6 ล้านคน และฮ่องกงก็มีประชากรแค่ 7.4 ล้านคน ส่วนประเทศไทยนั้นมีประชากรถึง 66.5 ล้านคน มากกว่าเขาถึงประมาณ 10 เท่าตัว ประเทศไทยนั้นคนจนระดับรากหญ้ามีมากกว่ารากหญ้าของเขาถึงร่วม 40 เท่า ประเทศไทยนั้นคนจนระดับรากหญ้าประมาณ 15 ล้านคนไม่เคยเสียภาษีเงินได้ เสียอยู่แค่ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่คนจนของสิงคโปร์และฮ่องกงนั้น คนเขาเสียภาษีเงินได้กันแทบทุกคน ยกเว้นคนจนจริงๆ ที่มีแค่หยิบมือเดียว

ประเทศไทยนั้นปัจจุบันคนไทยมีรายได้ต่อหัวแค่ 8,170 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่สิงคโปร์คนเขามีรายได้ต่อหัว 65,233 เหรียญสหรัฐต่อปี และฮ่องกงคนเขามีรายได้ต่อหัว 48,760 เหรียญสหรัฐต่อปี มากกว่าคนไทยถึง 7-8 เท่าตัว ต่างกันแบบฟ้ากับดินแบบนี้รัฐบาลเรายังอุตส่าห์ไปลอกเลียนเขามา ของสิงคโปร์และฮ่องกงเขาแจกเงินแล้วได้ผล แต่ของไทยนั้นแจกแล้วไร้ผล ซ้ำยังสร้างนิสัยให้คนจนของไทยรอรับแจกจากรัฐอย่างยั่งยืนร่ำไป น่าสมเพชไหมครับ

การเกิดภาวการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดว่า การผลิตทั้งสินค้าและบริการแทบทุกเรื่องต้องชะงัก ยกเว้นหน้ากากกันเชื้อโรค (Mask) ส่วนความต้องการซื้อสินค้าและบริการยกเว้นสินค้าบริโภคที่จำเป็นก็ไม่มีคนซื้อแล้ว เพราะผู้คนต้องเก็บตัวกลัวโรค ภาวการณ์เช่นนี้ถ้าไม่เรียกว่าเป็นภาวะ “ซัพพลายฟุบ ดีมานด์แฟบ” ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว ดังนั้น ขออย่าได้คิดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ติดนิสัยมาตอนหาเสียงเลือกตั้ง เลิกคิดเสียทีเถอะครับ

ตอนนี้แบงก์ชาติควรนำมาตรการ “พักชำระหนี้” (Moratorium) มาใช้ได้แล้ว ได้ทราบว่าธนาคารใหญ่ๆ ได้เริ่มนำไปใช้กันบ้างแล้วแต่ยังหน่อมแน้มอยู่ ควรต้องให้หนักแน่นกว่า คือทั้งพักการชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ยลงให้มากพอด้วย ทั้งนี้ แบงก์ชาติจะต้องจัดลดภาระการตั้งสำรองให้สถาบันการเงินแบบใจถึงก่อน และควรเน้นนำไปใช้กับกิจการเล็กๆ ที่เป็น SME เท่านั้น กิจการใหญ่ๆ ของเสี่ยทั้งหลายอย่าเพิ่งไปให้ความสำคัญ ถ้าจะช่วยกันบ้างก็ควรมองไปที่บริษัทการบินไทยก็พอ

ท้ายที่สุดนี้ก็ใคร่ขอตอบคำถามของตนเองที่จั่วหัวไว้ดังนี้ว่า เศรษฐกิจถดถอยของไทยครั้งนี้จะลงลึกมากและลากยาวต่อไปถึงปีหน้าแน่นอน ไม่ว่าจะสามารถต้านและขจัดโคโรนาไวรัสได้เร็วช้าแค่ไหน ทั้งนี้ เพราะปัญหาโครงสร้างที่ไม่ดีและแก้ไขยากทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไทย ยังมีอยู่อย่างเต็มพิกัด

ลองมองไปรอบตัวเราได้ทั้งตอนที่พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ก็จะเห็นปัญหาดังกล่าวอยู่อย่างจีรังไม่ห่างหาย

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image