“MTC” ย้ำปี 63 อัตราเติบโต 20-25% คุมหนี้เน่าไม่เกิน 2% รับห่วงราคาหุ้นรูดต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน เล็งหามาตรการพยุงหุ้น

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) เปิดเผยถึงกรณีที่มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน และตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวสูงขึ้นว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ MTC โดยยังคงมั่นใจว่าผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี คือในปี 2563 สินเชื่อจะมีการเติบโต 20-25% และสามารถคุมหนี้ NPL ไม่ให้เกิน 2%

“ผ่านมาแล้ว 2 เดือนของปีนี้ ผลการดำเนินงานทั้งเรื่องยอดปล่อยสินเชื่อ ยอดเก็บหนี้ และยอดหนี้เสีย ทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานทุกประการ ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล โดยเฉพาะหนี้เสีย ถึงแม้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้ช่วยเหลือลูกค้าในการรีไฟแนนซ์ให้ได้ แต่ถ้าเป็นลูกค้าที่มีประวัติค้างชำระเกิน 3 เดือน ทางบริษัทฯก็ยังคงตั้งสำรองหนี้เสียไว้ครบ 100% ตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีทุกประการ โดยไม่มีข้อยกเว้น สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) จากการพูดคุยกับ ธปท.ยังไม่มีนโยบายที่จะลดดอกเบี้ยลงจาก 28% แต่ประการใด”

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า บริษัทฯอาจจะขาดสภาพคล่องทางการเงินโดยเฉพาะการชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดภายในปีนี้ นายชูชาติ ชี้แจงว่า หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระที่เหลือในปีนี้ จำนวน 6,200 ล้านบาทนั้น จะทยอยครบกำหนดเป็นรายไตรมาส บริษัทฯมีสภาพคล่องจำนวนมาก จากการได้รับวงเงินตั๋ว P/N, B/E รวมทั้งเงินกู้จากธนาคาร 11,000 ล้านบาท ให้สำรองเบิกใช้ได้เมื่อมีความจำเป็น รวมทั้งบริษัทฯสามารถออกหุ้นกู้ใหม่ เพื่อขยายธุรกิจในอนาคตได้อีก

นอกจากนี้ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E Raito ของบริษัทต่ำมากเพียง 2.8 เท่า มีศักยภาพสามารถที่จะขอรับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินได้เพิ่มถึง 4.5 เท่า เพื่อรองรับการขยายสาขาในการปล่อยสินเชื่อ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่เรทติ้งที่บริษัทฯได้รับปัจจุบันคือ BBB+ มีแนวโน้มว่าถ้ายังคงการเติบโต และเป็นผู้นำการตลาดได้ บริษัทฯมีโอกาสที่จะปรับเรทติ้ง ให้สูงขึ้นเป็น A- ภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

Advertisement

นายชูชาติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีความกังวลต่อราคาหุ้น MTC ที่ปรับตัวลดลงมากจนกระทั่งต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น ทั้งนี้จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่ามีหลายแนวทางที่จะสามารถนำมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ แต่จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมและเลือกวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image