นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบ ยังไม่ได้มีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา เนื่องจากการใช้เม็ดเงินงบประมาณ ที่ต้องหักจากเงินที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่จะต้องชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช. กำหนด จนกว่าจะครบจำนวน และให้ กสทช. นำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น ไม่สามารถทำได้
“ที่ประชุม กสทช. อาจต้องมีการพิจารณาถึงมาตราการดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลมีการสนับสนุนมาตรการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ได้ขอความร่วมมือสำนักงาน กสทช. เชิญผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาประชุมหารือเป็นการเร่งด่วน เพื่อนำผลการประชุมนำเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจาณาในวันที่ 23 มีนาคม 2563” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (โมบาย บรอดแบนด์) เพิ่ม 10 กิกะไบต์ ต่อคนต่อเดือนนั้น คาดว่าจะสามารถสนับสนุนได้ประมาณ 50 ล้านเลขหมาย ซึ่งจะใช้เม็ดเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งให้หักจากเงินที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่จะต้องชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช. กำหนด จนกว่าจะครบจำนวน และให้ กสทช. นำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ส่วนการสนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (ฟิกส์ บรอดแบนด์) ให้ได้ระดับความเร็ว (ดาวน์โหลด) เป็น 100 เมกะไบต์ นั้น คาดว่า จะใช้เงินประมาณ 730 ล้านบาท โดย กสทช. จะหักเป็นค่าใช้จ่ายจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เหยื่อดิไอคอนกรุ๊ป พุ่ง 630 ราย เสียหาย 228 ล้าน ผบ.ตร.สั่งตรวจสอบทุกมิติหลังสะพัด ตร.นั่งแท่นโค้ช
- เปิดสาเหตุ หนุ่มโรงงาน ปีนเสาสัญญาณแรงสูง กล่อม 6 ชม.ไม่เป็นผล ลูกมาอ้อนถึงยอมลง
- ฝนตก ลมแรง เสาไฟฟ้า-ต้นไม้ใหญ่โค่นล้ม ใกล้แยกเศรษฐศิริ ถนนนครไชยศรี
- ชาวบ้านโล่ง หลังเขื่อนเจ้าพระยา ลดระบายน้ำเหลือ 1,800 ลบ.ม./วินาที