‘ดีอีเอส’ โชว์ระบบ แคท คอนเฟอร์เรนซ์ หนุนหน่วยงานรัฐทำงานที่บ้านต้านโควิด-19

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กล่าวรายงานความคืบหน้ามาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในส่วนของมาตรการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.การให้บริการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม สำหรับหน่วยงานรัฐ 2.การจัดการระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ 3.การเตรียมการรองรับการจัดประชุมทางไกลออนไลน์

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้จัดเตรียมระบบประชุมทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ในชื่อบริการ แคท คอนเฟอร์เรนซ์ สามารถรองรับผู้เข้าร่วมการประชุมพร้อมกันได้มากสูงสุดถึง 5,000 คน และมีระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ขนาดใหญ่ ที่รองรับการทางานที่บ้านและมีความพร้อมใช้งานได้ในทันที ซึ่งจะเป็นอีกระบบสนับสนุนที่สำคัญสำหรับมาตรการทำงานจากบ้าน ของข้าราชการและรัฐวิสากิจตามมติ ครม. รองรับการปฏิบัติงานของราชการที่มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

สำหรับ แคท คอนเฟอร์เรนซ์ ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกทุกการประชุม ให้ความเชื่อมั่นเรื่องความเสถียรของระบบ รองรับอุปกรณ์หลากหลาย ผู้ร่วมประชุมสามารถเห็นภาพ ฟังเสียง และเสนอเอกสารการประชุม ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานด้วยมีฟังก์ชั่นเชิญประชุมผ่านอีเมล์ โดยการแจ้ง access link ที่ใช้ในการประชุมและรหัสผ่านให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม สามารถออกจดหมาย เชิญเข้าร่วมประชุมแบบมาตรฐาน เชื่อมกับไมโครซอฟต์ เอาท์ลุก และรองรับการแจ้งเตือนด้วยระบบปฏิทินของไมโครซอฟต์ เอาท์ลุก

รวมทั้งมีระบบ Polling โดยผู้เข้าร่วมประชุมสามารถสร้างแบบสอบถามได้เอง และให้มีการลงมติในที่ประชุม พร้อมรายงานแสดงผลการลงมติ บันทึกภาพและเสียงการประชุมได้ในรูปแบบ MP4 และ MP3 คลิกไปใช้บริการได้ที่ www.catconference.com ผ่านอุปกรณ์ทั้งคอมพิวเตอร์ ไอแพ็ด ไอโฟน และแท็บเล็ตรุ่นที่กำหนด ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นผ่าน เพลย์สโตร์ และแอปสโตร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร.1322

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงดีอีเอส ได้เปิดตัวร่วมกับผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น 4 ราย ที่สนับสนุนระบบการประชุมออนไลน์ หรือวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ได้แก่ แอพพลิเคชัน Webex ของซิสโก้, Microsoft Team จากไมโครซอฟท์, Hangouts ของกูเกิล และแอพพลิเคชั่นไลน์ ขณะที่ผู้ให้บริการเครือข่ายและการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ทั้ง 6 ราย ได้แก่ CAT, TOT, AIS, TRUE, DTAC และ 3BB พร้อมให้การสนับสนุนโดยยกเว้นค่าบริการในการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างใช้งานแอพพลิเคชั่นดังกล่าว (ระยะเวลา 30 วัน)

ในส่วนของแนวทางการทำงานของหน่วยงานของรัฐในช่วง WFH สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า ภายใต้สังกัดกระทรวงดีอีเอส ได้ประกาศแนวทางเพื่อให้แต่ละหน่วยงานสามารถนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม ครอบคลุม 2 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย

1.การจัดการระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ขั้นตอนคือ ใช้ e-Mail เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการทำงานรองรับการใช้งานทั้งระหว่างหน่วยงานและภายในหน่วยงาน, ใช้ MailGoThai ที่ลงทะเบียนไว้กับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (ดีจีเอ) เป็นสื่อกลางจัดเก็บข้อมูลการส่งและรับ, แค่แนบหนังสือในรูปแบบไฟล์ PDF พร้อมใส่เนื้อหาของหนังสือในรูปแบบ Text ในเนื้ออีเมล พร้อมเน้นย้ำว่า ต้องไม่ใช้แนวทางนี้กับหนังสือที่มีชั้นความลับ

Advertisement

2.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องไม่ใช้กับการประชุมตามกฎหมาย (กรณีการประชุมตามกฎหมายต้องปฏิบัติตามประกาศ คสช. ที่ 74/2557), ใช้กับการประชุมทั่วไป เช่น การหารือ/ขอความเห็นระหว่างหน่วยงาน มีเช็คลิสต์ สำคัญที่ต้องมีสำหรับการประชุม เช่น การแสดงตน การออกลงคะแนนในแบบอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ใช้กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีชั้นความลับ ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร.02 123 1234

“กระทรวงดีอีเอส มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานงานและให้คำปรึกษาเบื้องต้นกับหน่วยงานที่ต้องการใช้ และสามารถแจ้งความประสงค์ที่จะใช้งาน โดยเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ www.onde.go.th” นพ.พลวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานของ สดช. ระบุว่า ล่าสุดมีหน่วยงานลงทะเบียน ขอใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ร่วมให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม work from home ของหน่วยงานรัฐแล้ว 290 หน่วยงาน รวมจำนวนผู้ขอใช้งาน 294,958 ราย (ข้อมูลอัพเดท วันที่ 25 มีนาคม 2563) มีหน่วยงานที่ใช้ระบบแล้ว ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลฯ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร.02 141 7010 หรือ E-mail: [email protected]

“กระทรวงดีอีเอส ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีด้านข้อมูล การชี้แจง และการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นโควิด-19 โดยข้อมูลจากการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม รวบรวมล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวนข้อความเข้าทั้งหมด 63,974 ข้อความ, มีข้อความที่ต้อง Verify 96 ข้อความ โดยจำนวนนี้มีเกี่ยวข้องกับโควิด-19 จำนวน 44 เรื่อง (รอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)” นพ.พลวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส ได้จัดทำ แผนบริหารความต่อเนื่องขององค์กร ของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ในสถานการณการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสาระสำคัญในแผนจะเป็นการกำหนดโครงสร้างและทีมงาน การเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ เตรียมความพร้อมเพื่อให้การทำงานไม่หยุดชะงัก

รวมทั้งมีคำแนะนำการเลือกใช้และดูแลรักษาความสะอาดระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รวมถึงการปรับใช้กับการตรวจรักษาทางไกล ในช่วงสถานการณการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีวัตถุประสงค์ในการประชุมที่ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ได้อยู่ที่เดียวกันซึ่งจะมีการโต้ตอบกันทั้งเสียง หรือทั้งเสียงและภาพ โดยยังสามารถนำมาปรับใช้เพื่อการทำการตรวจรักษาทางไกล ได้โดยมีวัถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อการคัดกรองผู้ป่วย 2.เพื่อการติดตามผลการรักษา 3.เพื่อใช้ในการรักษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 02 141 6747

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image