ดีอีเอสผุด ‘แอพพ์’ ส่องกลุ่มเสี่ยงโควิด

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้ทุกคนต้องเร่งทรานฟอร์มตัวเองไปสู่ยุคดิจิทัล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ถือเป็นแม่งานหลักในการขับเคลื่อน

ในช่วงวิกฤตนี้ก็ได้ต่อยอดใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่น “เอโอที แอร์พอร์ต” ที่ร่วมกับ “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.” ให้ใช้งานสะดวกขึ้น สำหรับใช้ติดตามตัวคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศ เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อใช้ในการติดตามตัวประชาชนที่เดินทางกลับจาก กทม. และปริมณฑล ไปยังภูมิลำเนา หลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งให้ทุกจังหวัดลงไปสำรวจข้อมูลประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยให้การกักกันตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการดีอีเอส ระบุว่า แอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผนที่ทั้งประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลแต่ละจังหวัดจนถึงระดับพื้นที่ได้ โดยแต่ละพื้นที่ยังระบุชื่อและสถานะของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้อย่างละเอียด จึงช่วยให้ส่วนกลาง รวมไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ติดตามตัวและรู้ข้อมูลของผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาได้เป็นอย่างดีนอกจากนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองที่ประจำจุดตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ใช้ในการตรวจสอบว่าบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้รายงานตัวและกักกันตัวเองครบ 14 วันแล้ว ตามมาตรฐานการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อระบุสถานที่กักกันตัวเองแล้ว ผู้ใช้จะต้องกักตัวเองอยู่ในพื้นที่ 14 วัน และทุกวันต้องรายงานตัวผ่านระบบ ด้วยการถ่ายรูป 3 เวลา คือ 10.30 น. 14.30 น. และ 18.00 น. เจ้าหน้าที่จะเห็นสัญลักษณ์สีเขียวว่าได้ดำเนินการแล้ว ถ้าไม่ทำตามกำหนด ระบบจะแจ้งเตือนผู้ใช้ทุกชั่วโมง และหากผู้ใช้ออกจากสถานที่กักกันเกิน 50 เมตร จะปรากฏสัญลักษณ์สีส้มผู้ใช้ไม่รายงานตัว สัญลักษณ์จะเป็นสีแดง ผู้ใช้ปิดแอพพ์ สัญลักษณ์จะเป็นสีเทา ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ข้อมูลและลงไปตามหาตัวในพื้นที่ได้ทันที

Advertisement

“ขณะนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้นำแอพพลิเคชั่นนี้ไปใช้งานแล้ว โดยเริ่มนำร่องที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นแห่งแรก มีขั้นตอนคือ เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ไปพบกับบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่กลับมาจาก กทม.ถึงที่บ้าน และให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าว จากนั้นระบบจะแจ้งเตือน 3 ครั้งภายใน 12 ชั่วโมง เพื่อให้บุคคลนั้นระบุสถานที่กักกันตัวเอง” พุทธิพงษ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “ดีอีเอส” ได้มีการใช้งาน “เอโอที แอร์พอร์ต” ในการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 โดยให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทุกคนทุกไฟลต์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ประชาชนคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และประชาชนคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อลงจากเครื่องบิน ถึงจุดตรวจของกรมควบคุมโรค โดยจะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจากกูเกิล สโตร์ หรือแอพพ์สโตร์ โดยจะทำงาน เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน และยอมรับเงื่อนไขให้ใช้ข้อมูลดังกล่าว กรณีจำเป็นเมื่อเกิดสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของข้อมูล จากนั้นนำแอพพลิเคชั่นแสดงที่สำนักงานการตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อผ่านการตรวจคนเข้าเมืองเข้าประเทศไทยได้

ซึ่งแอพพลิเคชั่นจะทำงานหลังจากกรอกข้อมูลครบถ้วน และยินยอมรับเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้เป็นเวลา 14 วัน ถ้ามีเหตุการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าของข้อมูล ทางกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่าง กรณีเจ้าของข้อมูลโดยสารเครื่องบินมาประเทศไทย ปรากฏว่ามีผู้โดยสารที่โดยสารเครื่องบินลำเดียวกัน ตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 กรมควบคุมโรคก็สามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์จากฐานข้อมูลจากแอพพ์ติดต่อเจ้าของข้อมูล และตรวจสอบเส้นทางการเดินทางภายใน 14 วันที่เขาไป เพื่อตรวจสอบเส้นทาง เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรคหรือหาเป้าหมายกลุ่มเสี่ยงเพื่อเฝ้าสังเกตอาการได้ หากไม่มีเหตุการณ์ เมื่อครบ 14 วัน ข้อมูลจะถูกลบทั้งหมด

Advertisement

นอกจากนี้ หลังจากที่รัฐบาลยกเลิกศูนย์กักกันเพื่อควบคุมโรค และผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต้องกลับไปกักตัวที่บ้านหรือภูมิลำเนา กระทรวงดีอีเอสยังได้ร่วมกับดิจิทัลสตาร์ตอัพไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ในชื่อ “อาร์ติคูลัส” ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น SydeKickfor ThaiFightCOVID สำหรับติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่ต้องกลับไปกักตัวที่ภูมิลำเนา โดยในพื้นที่ กทม.จะมีคิวอาร์โค้ดศูนย์กลาง และคิวอาร์โค้ดสำหรับ 50 เขต และ 76 จังหวัดทั่วประเทศให้ดาวน์โหลด

โดยทุกคนจะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อแสดงตัวตนที่อยู่ตามภูมิลำเนาของตัวเองก่อนออกจากศูนย์กักกันเพื่อควบคุมโรค เพื่อคอยตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่มเสี่ยงว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม และกักตัวเองอยู่ที่บ้านตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ โดยแอพพลิเคชั่นจะทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดที่จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และหากพบผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย

“แอพพลิเคชั่น SydeKick for ThaiFightCOVID เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการช่วยติดตามกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยสตาร์ตอัพสัญชาติไทย โดยนำแนวคิดการดูแลความปลอดภัยของคนในครอบครัวมาปรับใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งข้อมูลของผู้ใช้แอพพลิเคชั่นจะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคลายความกังวลให้กับสังคมไทย” พุทธิพงษ์เผย

นอกจากนี้ ดีอีเอสยังพัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiFight COVID ที่ ThaiFight COVID.depa.or.th เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อ ข้อมูลแผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งร้านธงฟ้าใกล้บ้าน ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาลที่รับตรวจหาเชื้อ เพื่อค้นหาจุดจำหน่ายเวชภัณฑ์ อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ร่วมกับร้านขายยา รวมถึงข้อมูลดิจิทัลแอพพลิเคชั่นที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานดิจิทัลคอนเทนต์ และวิดีโอแสดงข้อมูลการใช้ชีวิตช่วงโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถอัพเดตสถานการณ์และรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ครบถ้วน แม่นยำ และรวดเร็ว

“แพลตฟอร์มนี้รวบรวมข้อมูลมาจากหน่วยงานภาครัฐอัพเดตจริงๆ ตัวเลขอาจจะช้าแต่ชัวร์ เพราะยืนยันจริงๆ สามารถอ้างอิงได้ เชื่อถือได้ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังสามารถหาโรงพยาบาลที่รับตรวจ ร้านขายยา ร้านธงฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนให้ขายหน้ากากอนามัย โดยเราจะอัพเดตข้อมูลให้เร็วที่สุด และจะรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย พื้นที่ที่มีผู้ป่วย” พุทธิพงษ์ระบุ

ทั้งนี้ พุทธิพงษ์ระบุว่า สิ่งที่จะทำต่อไป คือ การรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ผ่านการตรวจสอบแล้วมาเผยแพร่ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันที่จะให้ข้อมูล โดยเบื้องต้นระบบฐานข้อมูลได้เตรียมการไว้หมดแล้ว รอให้ได้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงดีอีเอสตระหนักว่าข้อมูลที่เป็นจริงและมีเอกภาพเป็นเรื่องจำเป็นในสถานการณ์นี้ ซึ่งเราไม่ได้ช้าไปกว่าเอกชนแต่จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

หลังจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เชื่อว่าการทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลครั้งนี้ จะทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image