แห่ถามยกเลิกลงทะเบียนเยียวยา 5 พัน หวั่นผิดพ.ร.บ.คอมฯ แพ่ง-อาญา

เยียวยา 5 พัน โควิด-19
ประชาชนแห่สอบถามมายังกระทรวงการคลัง ขอยกเลิกรับเงินเยียวยา 5 พัน โควิด-19 หวั่นแจ้งขอมูลเท็จ ผิดพ.ร.บ.คอมฯ กฎหมายแพ่ง-อาญา
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  ขณะนี้มีประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากโควิด-19 เดือนสอบถามยังกระทรวงการคลังจำนวนมากว่าขอยกเลิกการลงทะเบียนได้ไหม ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการแจ้งข้อมูลเท็จ หลังจากลงทะเบียนแล้วคงได้ไปอ่านข้อตกลงยินยอมที่กำหนดไว้ก่อนที่จะให้คลิกลงทะเบียนอย่างละเอียด
นายลวรณ กล่าวว่า ทั้งนี้การลงทะเบียนโดยข้อมูลเท็จมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งระบุไว้ในเงื่อนไขของการลงทะเบียนชัดเจน และผู้ลงทะเบียนได้อ่านก่อนตอบตกลง และยังกระทรวงการคลังสามารถขอเงินคืนได้หากมีการจ่ายเงินไปแล้วและตรวจสอบภายหลังว่าผิดหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังคงไม่ไปนั่งไล่เอาผิดกับผู้ลงทะเบียน ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์จะไม่ได้รับเงินเยียยาแค่นั้นก็จบไป แต่ถ้าผู้ลงทะเบียนมีการอุทธรณ์จากการไม่ผ่านเกณฑ์ กระทรวงการคลังต้องไปดูข้อมูลต่างๆ ให้ละเอียด ซึ่งตรงนี้หากพบว่าให้ข้อมูลเท็จ อาจจะมีการใช้กฎหมายเข้ามาช่วย
“ไม่คิดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนมากถึง 20 ล้านคน ดังนั้นการตรวจสอบที่เคยประเมินไว้จะใช้เวลา 7 วันอาจจะไม่ทัน แต่จะพยายามทำให้เร็วที่สุด บางข้อมูลต้องให้หน่อยงานอื่นช่วยตรวจสอบ แต่เมื่อมีผู้มาลงทะเบียนถึง 20 ล้านคน ต้องใช้ระยะเวลา และดูว่าหน่วยงานที่กระทรวงการคลังขอให้ช่วยตรวจสอบนั้นทำได้เร็วแค่ไหน”นายลวรณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อความตกลงยินยอมที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ ในข้อ 2.4 ระบุว่าข้าพเจ้ารับทราบว่าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย 2.5ข้าพเจ้าได้อ่าน รับทราบ และตกลงยินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการฯ หากข้าพเจ้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการฯ ข้าพเจ้ายินยอมให้กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังสั่งระงับการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการฯ และตรวจสอบการกระทำดังกล่าว หากตรวจสอบแล้วพบว่าข้าพเจ้ากระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการฯ จริง ให้กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังระงับสิทธิในการได้รับเงินชดเชยตามมาตรการฯ และข้าพเจ้าจะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินชดเชย ที่ได้รับไปแล้วคืนให้แก่รัฐภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับสิทธิดังกล่าว ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ให้การตัดสินของกระทรวงการคลังถือเป็นที่สุด ส่วนข้อ 2.6 ในกรณีที่รัฐได้ดำเนินการตามข้อ 2.5 แล้ว รัฐอาจใช้สิทธิในการที่จะดำเนินคดีทางแพ่งหรือทางอาญาต่อไป

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง คลังเผยยอดทะเบียนเยียวยาโควิด-19 แตะ 20 ล้านคน ย้ำตรวจสอบเข้ม 3 เกณฑ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image