กรมควบคุมโรคยันไม่มีการแพร่เชื้อในเรือนจำนครนายก หลัง ‘ผบ.คุก-จนท.ติดโควิด’

สาธรณสุข-กรมควบคุมโรค ยันไม่มีการแพร่เชื้อในคุกนครนายก หลัง ‘ผบ.เรือนจำ-จนท.ติดโควิด’

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  เปิดเผยว่า ตามที่ผู้บัญชาการเรือนจำ จ.นครนายก ติดเชื้อโควิด-19 มีการนั้น กรณีนี้กรมราชทัณฑ์ ได้แจ้งข้อมูลมายังกรมควบคุมโรค และ สธ.แล้ว โดยเบื้องต้นทางกรมราชทัณฑ์ ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือมานานแล้ว และต้องขอชื่นชม  มีการติดต่อประสานกันกับ สธ.มาตลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อในเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ส่วนกรณีที่เกิดขึ้น เป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำ 1 รายมีผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 และทางทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเมื่อช่วงดึกของวันที่ 31 มีนาคมนั้น  ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าเจ้าหน้าที่รายนี้ ไม่เคยเข้าไปในแดนของผู้ต้องขัง เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานด้านนอก ซึ่งทำให้เกิดความสบายใจขึ้นในระดับหนึ่งว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อในเรือนจำ

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีคนไทย 19 ราย ที่เดินทางกลับจากประเทศอินโดนิเชีย และมีติดเชื้อนั้น ขณะนี้มีผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศจำนวนมาก จากคัดกรองที่สนามบินพบว่าจำนวนหนึ่งมีไข้  แต่ในจำนวน 19 ราย คงไม่ใช่ผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด เพราะอาจจะเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคร่วมด้วย โดยมาตรการคัดกรองผู้เดินทางทุกช่องทางในขณะนี้ เช่น การคัดกรองในสนามบิน หากพบผู้ที่มีไข้และสงสัยว่าจะมีอาการป่วย จะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเร่งด่วน โดยจะให้ผู้เดินทางรายนั้นอยู่ในพื้นที่ในสนามบิน เพื่อรอผลการตรวจ หากผลตรวจออกมาเป็นบวก ต้องรับไว้ในการดูแลต่อไป ซึ่งสนามบินจะนำเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล และหากผลตรวจออกมาเป็นลบ จะต้องนำเข้าสู่ระบบการกักกันโรคระยะ 14 วันต่อไป

เมื่อถามว่าวันนี้ครบ 7 วัน ในการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน แต่ยังพบผู้ป่วยอยู่ เป็นที่น่าพึงพอใจแล้วหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ไม่ เนื่องจากยังพบผู้ป่วยหลักร้อยต่อวัน แค่นี้ยังพอใจไม่ได้ จะต้องกลับไปเหลือพบเพียง 1-3 คนต่อวันเมื่อก่อนหน้านี้ มาตรการเข้มหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประชาชน ภาครัฐบาล ภาคเอกชนและทุกฝ่ายให้ความร่วมมือมากเพียงใด

“ภาครัฐ ควรจะมีให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ซึ่งขณะนี้ในสถานที่ราชการยังคงพบรถจอดอยู่เต็มพื้นที่ เพราะว่าลด 50% รถจะต้องโล่ง ส่วนภาคเอกชนต้องมีการให้ทำงานที่บ้านด้วย มาตรการนี้เป็นภาคสมัครใจ ทำไมต้องบังคับกัน เราเลือกได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า หากกรณีห้างสรรพสินค้ามีประชาชนหนาแน่น ก็อาจจะต้องปรับเวลาในการเปิดให้เร็วขึ้นและปิดบริการดึกขึ้น เพื่อกระจายจำนวนคนในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการใช้มาตรการเลื่อมเวลา สถานที่ราชการควรจะต้องเลื่อมเวลาทำงาน หากทำได้ก็ควรทำให้มาก เช่น เริ่มทำงานตั้งแต่ 06.00 น. และ 12.00 น. ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะช่วยกันทำ และควรจะดำเนินการให้ได้ 70-80%” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image