‘กกร.’​วอนรัฐออกคำส่งปิดโรงแรมเพื่อให้พนง.เข้าเกณฑ์รับเงินชดเชย

‘กกร.’​วอนรัฐออกคำส่งปิดโรงแรมเพื่อให้พนง.เข้าเกณฑ์รับเงินชดเชย หั่นตัวเลขส่งออกเหลือลบ 5-10% พร้อม

วันที่ 8 เมษายน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า วันนี้ได้หารือผลกระทบเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ประชุม กกร. มองว่า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบระยะที่ 1-2 และเตรียมที่จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม ภายใต้วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท รวมถึงมีมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.)​ และสถาบันการเงินต่างๆ แต่โดยรวมแล้วก็อาจจะไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชน จากการขาดรายได้และการหยุดหรือปิดกิจการ

ทั้งนี้ กกร. ได้ประเมินความเสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบการจ้างงานหลายล้านคน นอกจากนี้ หากการระบาดของโรคโควิด-19 สามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สู่ภาวะปกติก็คงต้องใช้เวลาเป็นอย่างมากจึงยังไม่มีการปรับลดตัวเลขผลิตภัณฑ์​มวลรวม​ของ​ประเทศ​ (จีดีพี)​ ในปีนี้ แต่คาดว่าติดลบอย่างแน่นอน

“ส่วนในภาคของการส่งออกคาดว่าในปีนี้จะติดลบ 5-10% ส่วนหนึ่งมาจากภัยแล้งที่กระทบต่อผลผลิต และซ้ำด้วยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การส่งออกโดยเฉพาะผลไม้เกิดการล่าช้า และอาจส่งผลให้สินค้าเกิดความเสียหายได้” นายสุพันธุ์​ กล่าว

Advertisement

สำหรับ มาตรการด้านการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ ขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆ ที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ ที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ขอให้ภาครัฐปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันได้ลดลงอย่างมาก, ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 และขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ป้องกันโควิด-19

นอกจากนี้ อยากขอให้รัฐบาลสร้างความชัดเจนในการกำหนดหลักเกณฑ์​ขนย้ายสินค้าแต่ละจังหวัดในช่วงเวลาฉุกเฉินหรือตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ​ให้เป็นมาตรฐาน​เดียวกัน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการขนส่งสินค้าล่าช้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image