จากเหตุการณ์น้ำท่วมในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงฤดูฝน อีกทั้งหน้าแล้งก็ประสบกับปัญหาภัยแล้งเสี่ยงขาดแคลนน้ำแทบจะทุกปี กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ด้วยการดำเนินโครงการแก้มลิงบริเวณฝายแม่แตง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ด้วยสภาพพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ฝั่งตะวันตก ตั้งแต่อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอเมือง อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง ในช่วงฤดูน้ำหลากปริมาณน้ำในลำน้ำแม่แตง มักจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนในช่วงฤดูแล้งก็มักจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของฝายแม่แตง รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินโครงการแก้มลิงเพื่อบรรเทาภัยจากน้ำทั้งภัยแล้งและอุทกภัยในฝั่งตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย โครงการแก้มลิงในเขตทหารจำนวน 4 แห่ง และโครงการแก้มลิงบริเวณฝายแม่แตงจำนวน 1 แห่ง
สำหรับโครงการแก้มลิงบริเวณฝายแม่แตง กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้ดำเนินโครงการแก้มลิงบริเวณฝายแม่แตง แห่งที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อปี 2561 ด้วยการขุดลอกพื้นที่บริเวณเหนือฝายแม่แตงฝั่งซ้ายสำหรับใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงกว่า 230 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1.16 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้งเพิ่มเติมให้กับพื้นที่ชลประทานประมาณ 99,298 ไร่ ต่อมาได้ดำเนินโครงการแก้มลิงบริเวณฝายแม่แตง แห่งที่ 2 เพิ่มเติม โดยการขุดลอกบริเวณพื้นที่ด้านท้ายฝายแม่แตงฝั่งซ้าย พื้นที่แก้มลิงเพิ่มเติมอีก 322 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1.81 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะเริ่มเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้ ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ในส่วนของโครงการแก้มลิงในเขตพื้นที่ทหาร 4 แห่ง ได้แก่ แก้มลิงกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 พร้อมอาคารประกอบ แห่งที่ 1, แก้มลิงกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 3 พร้อมอาคารประกอบ แห่งที่ 2, แก้มลิงกองพันธ์สัตว์ต่าง พร้อมอาคารประกอบ และแก้มลิงศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พร้อมอาคารประกอบ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 4 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวมกันประมาณ 0.725 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญจะสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับสนับสนุนเพื่อการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ และสนับสนุนน้ำเพื่อการท่องเที่ยวในเขตเมืองเชียงใหม่ได้อีกด้วย