กรมอุทยานฯ ออกประกาศห้ามนำเข้า-ส่งออกสัตว์ป่าแอฟริกา หลังต้องสงสัยทำ “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” ระบาดหนักในไทย

กรมอุทยานฯ ออกประกาศห้ามนำเข้า-ส่งออกสัตว์ป่าแอฟริกา หลังต้องสงสัยทำ “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” ระบาดหนักในไทย

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามในหนังสือประกาศกรมอุทยานฯ ลงวันที่ 7 เมษายน เรื่องกำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ที่ไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก

โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า โดยที่มีการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ในพื้นที่จ.นครราชสีมา ทำให้ม้าให้ฟาร์มเลี้ยงที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ยืนยันว่า สาเหตุมาจากโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้ม ในวงศ์ Reoviridae สกุล Orbivirus  สัตว์ที่ไวต่อโรคนี้ ได้แก่ ม้า ลา ล่อ และม้าลาย เชื้อไวรัสจะทำให้สัตว์แสดงอาการป่วยรุนแรงและตาย โดยมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส ซึ่งการระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และยังไม่ปรากฏสาเหตุที่แน่ชัดต่อการเกิดโรคดังกล่าว

หนังสือระบุต่อว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 และมาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ลงวันที่ 12 เม.ย. 2560 เรื่องกำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า ที่ห้ามนำเข้า หรือส่งออก ซึ่งออกตามความในมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 กรมอุทยานฯ จะไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก ซึ่งสัตว์ป่า และซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า ตามบัญชีท้ายอนุสัญญาวว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) วงศ์ม้า (Family Equidae) ลำดับที่ 257 ถึงลำดับที่ 265 กลุ่มที่ 2 ชนิดของสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าที่มิใช่สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองและมิใช่สัตว์ป่าบัญชีท้ายอนุสัญญาไซเตส สัตว์ป่าจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม (MAMMALS) ลำดับที่ 6 ยีราฟ ทุกชนิด ในสกุล Giraffa (Giraffa spp.) ลำดับที่ 7 ม้าลายเบอร์เชลล์ (Equus burchelli) ลำดับที่ 8 ม้าลายควากกา (Equus quagga) ทั้งนี้ บัดนี้เป็นต้นไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image