‘หอการค้า’ คาดโควิด-19 ฉุดเม็ดเงินวูบกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ดิ่งสุดรอบ 21 ปี 6 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 258 เดือนหรือ 21 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 เป็นต้นมา โดยดัชนีปรับลดลงจากระดับ 64.8 มาอยู่ที่เป็น 50.3 ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงอย่างมาก ซึ่งการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนถึงการที่ผู้บริโภคยังคงเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอย สาเหตุสำคัญมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต  รวมถึงยังมีปัญหาภัยแล้งตามมาซ้ำเติมปัญหาต่อภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ปัจจัยที่ส่งผลเชิงลบต่อดัชนีความเชื่อมั่น มาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้ ...ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการและควบคุมโควิด-19 แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทยอยพบเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่รัฐสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดการปิดกิจการยกเลิกการจ้างงาน มีแรงงานตกงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2563 โดยคาดว่าจะติดลบ 5.3% จากเดิมคาดจะโตได้ที่ 2.8% ซึ่งหากไทยไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ และสถานการณ์รุนแรงเหมือนประเทศอิตาลี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงมากกว่านี้ แต่ยังคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 3% ในปี 2564 โดยการระบาดของโควิด-19  ทำให้รัฐบาลมนับสนุนการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมควบคุมการเดินทางออกนอกบ้าน ซึ่งน่าจะทำให้กำลังซื้อคนไทยทั้งประเทศจากเดิมที่มีมูลค่า 20,000 ล้านบาทต่อวันหายไปอย่างน้อยวันละ 5,000 ล้านบาท ทำให้ช่วง 2-3 เดือนเม็ดเงินหายไปประมาณกว่า 300,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นประเมินว่าโรคระบาดในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (มกราคมมิถุนายน) อย่างน้อย 1-1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยว 700,000 ล้านบาท  ภาคการบริโภค 300,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นด้านการค้าชายแดน การส่งออก รวมถึงอื่นๆ ด้วย” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงอย่างมาก จากระดับ 42.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ระดับ 33.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 249 เดือนหรือ 20 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ที่ไม่ดีแบบมากๆ ในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 74.3 มาอยู่ที่ระดับ 58.2 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจ 21 ปี 6 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่องและปรับตัวลดลงอย่างมากจนทุกรายการในเดือนนี้ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลง ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับมาตรการปิดประเทศหรทอการล็อคดาวน์นั้น คาดว่าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวไตรมาส 1-2563 หายไปกว่า 40% หรือประมาณ 4 ล้านคน จากปกติ 10 ล้านคน เหลือเพียง 6 ล้านคน และไตรมาส 2 ไม่น่าจะเหลือนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก จากปกติเข้ามาท่องเที่ยว 9 ล้านคน โดยสถานการณ์นี้จะทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด หรือหายไปกว่า 8 ล้านคน โดยรวมในช่วงครึ่งแรกปีนี้นักท่องเที่ยวหายไป 12-13 ล้านคน ซึ่งปกติใช้เงินคนละ 45,000-50,000 บาทต่อคน ส่งผลให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 600,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย บวกกับการท่องเที่ยวในประเทศเม็ดเงินจะหายไปอีกกว่า 100,000 ล้านบาท รวมเม็ดเงินหายไปกว่า 700,000 ล้านบาท

Advertisement

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการเยียวยาของภาครัฐมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท ประเมินว่าเม็ดเงินจะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจจริงได้ประมาณ 600,000-800,000 ล้านบาท โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจยังต้องประเมินอีกครั้ง ว่าโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้ในตอนใด โดยหากสามารถจบลงได้ในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะกลับมาเป็นบวกได้ แต่หากช้ากว่าคาด เศรษฐกิจไทยจะติดลบทั้ง 4 ไตรมาส ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกร่วมด้วย โดยคาดว่าโควิด-19 ในสหภาพยุโรปและสหรัฐ อาจคุมได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมสิงหาคม 2563 จึงประเมินเบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 4-6% และกำลังพิจารณามาตรการเยียวยาของภาครัฐเพิ่มเติม ซึ่งจะปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในวันที่ 16 เมษายนนนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการแจกเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท พิจารณาทางเศรษฐศาสตร์ หากรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาประชาชนคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน จะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ถึง 18 ล้านคน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่รัฐบาลจะให้เงินเยียวยาประชาชนคนละ 5,000 บาท จำนวน 9 ล้านคนเป็นเวลา 6 เดือน  เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้างมากกว่าการกระจุกตัวแล้ว ยังจะทำให้เกิดการใช้จ่ายที่สะพัดในวงกว้างมากกว่าด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image