เผยพฤติกรรมการบริโภคชาวจีน 8 เมืองใหญ่ช่วงโควิด-19 กินอยู่อย่างไร

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการของชาวจีนหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลของบริษัทมินเทล (Mintel) บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก โดยทำการสำรวจจาก 8 เมืองสำคัญของจีน

ผลการสำรวจฯ พบว่าจากการที่ไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบในทุกระดับชั้น ผู้บริโภคจำเป็นต้องหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น และร้านค้าปลีกในชุมชนต้องปรับมาใช้วีแชท (WeChat) ในการสื่อสารซื้อขายสินค้ากับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคาดว่ารูปแบบการซื้อขายเช่นนี้จะยังคงอยู่ในชุมชนชาวจีนหลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เนื่องจากผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจเรื่องการป้องกันด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งกระบวนการซื้อขายและความปลอดภัยของสินค้า นอกจากนี้ ผู้บริโภคจะมุ่งเน้นการซื้อขายสินค้าไปที่อาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสดมากขึ้น เพราะคิดว่าดีต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าที่ตั้งอยู่บนชั้นวางของมานาน

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ คือ ภาคการคมนาคมขนส่งและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (หมายรวมถึงโรงแรม รีสอร์ท และการค้าในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ) ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าปลีกและบริการด้านอาหาร ส่วนการ จำกัดขอบเขตการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าออนไลน์ ทำให้สินค้าบางประเภทขาดตลาด และใช้เวลานานในการเติมเต็มคลังสินค้า
ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาหารที่ถูกสุขลักษณะไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากนัก ยกตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ของร้านขายของชำไม่ได้รับความใส่ใจด้านสุขลักษณะ แม้ว่าผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าอาหารชั้นนำ (delivery) เช่น เอ้อ-เลอ-มา (Ele.me) และเหมยเถียน (Meituan) จะทำงานร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของร้านขายของชำให้ดีมากขึ้น แต่จนถึงปัจจุบัน ประเด็นนี้ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาและแก้ไข ในประเทศจีนมีเพียง ร้อยละ 32 ที่จะมีบรรจุภัณฑ์ใส่เฉพาะสำหรับอาหารสด นอกจากนี้ ร้านอาหารขนาดใหญ่ เช่น สีเป่ย (Xibei) และ แมคโดนัลด์ (McDonald’s) ยกระดับการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการบันทึกและแจ้งอุณหภูมิร่างกายของพนักงานและจำนวนครั้งของการล้างมือของพนักงานในครัวและพนักงาน delivery ทุกครั้ง เพื่อให้ผู้บริโภคมีความไว้ใจในสินค้าที่กำลังจะบริโภค สำหรับพัสดุหรือ packaging ที่ส่งมายังประชาชนในชุมชน ก็จะถูกวางไว้ในบริเวณนอกชุมชน จากนั้นเจ้าหน้าที่จัดการพัสดุก็จะจัดวางพัสดุตามหมายเลขห้องพัก และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคพัสดุทุกชิ้น สินค้าอาหารสดก็เช่นกัน จะถูกวางแยกบนชั้นวางของเพื่อให้ประชาชนมาเลือกหยิบไป

กรณีเมืองถงหลู่ (Tonglu) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ได้มีการออกกฎระเบียบการบริหารจัดการภายใต้ การปิดเมืองระหว่างวันที่ 2-17 กุมภาพันธ์ 2563 โดยอนุญาตให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากแต่ละครัวเรือนเท่านั้น ใช้บัตรผ่านเดินทาง (travel pass) ที่ออกให้โดยภาครัฐ สามารถออกไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ทุก ๆ สามวัน ส่วนสินค้าที่สั่งออนไลน์มาจะถูกนำมาวางไว้หน้าทางเข้าที่พัก
ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชากรผู้สูงอายุในจีน (อายุเกิน 55 ปี) มีเพียงร้อยละ 12 ที่ซื้อของออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่าหน้าจอเว็บต่าง ๆ เข้าถึงยาก แต่ถ้าเป็นการสื่อสารง่ายๆ อย่าง WeChat ก็ทำให้ผู้สูงอายุสื่อสารได้ง่ายขึ้น จากการสำรวจของบริษัท Mintel ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าร้อยละ 31 ของ

Advertisement

ผู้สูงอายุในจีน ใช้โปรแกรม WeChat ในการหาข้อมูลอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ร้านค้าปลีกในชุมชนใช้ WeChat ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าที่มีการวางขาย โดยใช้รูปภาพและวิดีโอเป็นสื่อนำเสนอ นอกจากนี้ ชาวไร่ชาวสวนยังรวมกลุ่มกันหาลูกค้าผ่านทาง WeChat ซึ่งลูกค้าที่รวมกลุ่มกันซื้อสินค้า ก็จะได้รับสินค้า ในราคาพิเศษอีกด้วย
พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปอีกประการหนึ่ง คือก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่ ซื้อสินค้าให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเพียงแค่สองสามวันเท่านั้น แต่หลังการแพร่ระบาดฯ และได้รับคำแนะนำให้อยู่ภายในที่พัก ประชาชนหันมาเลือกซื้อสินค้าในจำนวนมากขึ้นในแต่ละครั้ง เพื่อให้เพียงพออย่างน้อยหนึ่งอาทิตย์ข้างหน้า ซึ่งรูปแบบการบริโภคเช่นนี้ คาดว่าจะอยู่ในสังคมจีนต่อไปหลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว โดยคาดว่าในอนาคตสินค้าที่ขายในรูปแบบ package ขนาดใหญ่จะได้รับความนิยมมากขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวสรุปว่า แนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีนที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปต่อเนื่องภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ผู้บริโภคจะแสวงหาการรับรองสุขลักษณะและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น 2. ผู้บริโภคสูงวัยเข้าใจการค้าปลีกมากขึ้น มีการเริ่มหัดใช้เทคโนโลยีการซื้อของออนไลน์ และการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเองก็จะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงรูปแบบ การนำเสนอสินค้าให้เหมาะสมกับประชากรสูงวัยมากขึ้นเช่นเดียวกัน

และ 3. รูปแบบการซื้อสินค้าที่เป็นหีบห่อหรือ package ขนาดใหญ่ อาจจะยังได้รับความนิยมต่อไป แต่การซื้อสินค้าครั้งละจำนวนมาก ๆ คาดว่าจะปรับกลับไปสู่การซื้อในรูปแบบเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายกับตลาดจีน ควรทราบและหาวิธีปรับตัวรองรับต่อไป เพื่อให้สินค้าไทยยังเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าชาวจีนเช่นที่เคยเป็นมา

Advertisement

“จากแนวโน้มที่โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมและแนวทางการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนไปนั้น ดิฉันคิดว่า ในไทยเองก็จะมีผลพวงตามมาเช่นเดียวกัน เช่น ผู้บริโภคชาวไทยจะนิยมการสั่งอาหารผ่านแอพดิลิเวอรี่มากขึ้น ร้านค้าต้องใช้เทคโนโลยีเป็น การจ่ายเงินจะเป็นเงินสดน้อยลง และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่เป็นการเร่งดิสรัปชั่นให้เกิดเร็วขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่คงจะต้องปรับตัวรองรับให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image