6ยักษ์ธุรกิจ ‘เอสซีจี-มิตรผล-ซีพี-เซ็นทรัล-กระทิงแดง-ไทยเบฟ’ ย้ำไม่ปลดพนักงาน

6ยักษ์ธุรกิจ ‘เอสซีจี-มิตรผล-ซีพี-เซ็นทรัล-กระทิงแดง-ไทยเบฟ’ย้ำไม่ปลดพนักงาน

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการแถลงข่าว ภายใต้หัวข้อ รวมพลังภาคเอกชนสนับสนุนมาตรการหยุดยั้ง โควิด-19 โดยมี นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี, นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด (ทีซีพี), นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน), นายประวิช สุขุม ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนในองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และนางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเซ็นทรัล เข้าร่วมการแถลงข่าวผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์​ ในครั้งนี้ด้วย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลแลประเด็นที่น่าสนใจของภาคเอกชน ทั้งหอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า หอารค้าต่างประเทศ และธุรกิจด้านการค้าและบริการ ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อนำไปเสนอในที่ประชุมร่วมกับภาครัฐในวันที่ 13 เมษายนนี้ โดยมีเลขาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นประธาน และทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล เพื่อไปเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป

“นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวจะเสนอให้มีการเปิดบางธุรกิจในเดือนพฤษภาคม โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับภาครัฐว่าจะสามารถเปิดธุรกิจใดได้บ้าง โดยจะใช้วิธีทยอยเปิดบ้างจังหวัดที่มีความปลอดภัย เพราะทั้งหมด 76 จังหวัด พบเพียง 12 จังหวัด ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อสูง แต่จังหวัดอื่นๆ เป็นการปิดเผื่อเฝ้าดูสถานการร์เท่านั้น ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการทยอยเปิดบางจังหวัดที่มีการระบาดน้อย และผู้ประกอบการต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมให้เข้มข้นมากกว่าสถานการณ์ปกติ เพื่อให้ร้านค้ากลับมาให้บริการได้ และเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่จะต้องดูแลควบคู่ไปกับความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนด้วย” นายกลินท์ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชนยังมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ทดลองใช้แพลตฟอร์มของภาครัฐ อาทิ เอสซีจี ทีซีพี และกลุ่มเซ็นทรัล เป็นต้น โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยติดตามสถานะของแต่ละคนทั้งผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ คาดว่าจะได้ทราบชื่อแอพพลิเคชั่นและทดลองใช้ได้ในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งประโยชน์ของแอพพลิเคชั่นที่จะทำออกมานี้ จะทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากช่องทางเดียว ลดความซับซ้อนของข้อมูล

“เอกชนร่วมมือกันสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับแพทย์ โรงพยาบาล เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อ หากหยุดได้จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาเร็ว เพราะยังมองว่าปัญหายังอยู่ไปอีกระยะไม่ได้จบได้ในทันที และหลายประเทศต่างเร่งแก้ไขปัญหานี้ พร้อมกันนี้ เพื่อยังให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอกชนยืนยันแล้วว่าจะไม่ปลดพนักงานแม้แต่คนเดียว”นายกลินท์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image