‘ททท.’ พร้อมเร่งเครื่องเต็มสูบ เตรียมมาตรการดันท่องเที่ยวไทยโตวิบวับ หลังโบกมือลาโควิด-19

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ททท. ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพราะภาคการท่องเที่ยวจะเดินหน้าไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดไวรัสทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ความพร้อมในการปรับตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการกระตุ้นตลาดเพิ่มเติม โดยหากสถานการณ์ไวรัสระบาดในประเทศดูดีขึ้น มีแนวโน้มที่จะคลายตัวได้เร็ว รัฐบาลจำกัดการเดินทางออกจากบ้านน้อยลง หรือลดความเข้มข้นลง และอนุญาตให้มีการเดินทางท่องเที่ยวได้แล้ว คงต้องมาดูว่า ถึงเวลานั้นคนจะอยากเดินทางท่องเที่ยวหรือไม่ ซึ่งประเมินว่าความต้องการในการออกเดินทางท่องเที่ยวยังมีอยู่ แต่รูปแบบอาจจะเปลี่ยนไปเป็นลักษณะของเดินทางไปในระยะทางที่ไม่ไกลนัก และออกเดินทางกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มากกว่ากลุ่มใหญ่ รวมถึงไปในที่ที่มั่นใจว่ามีความปลอดภัยที่หากไปแล้วจะต้องไม่มีการติดเชื้อไวรัสกลับมา หรือทำให้ไวรัสกลับมาแพร่ะระบาดอีกครั้ง ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนสามารถรักษาได้ เพราะหากยังค้นพบวัคซีนต้านไวรัสไม่เจอ ทุกคนก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ หรือติดเชื้อซ้ำได้ สำหรับภาพรวมรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวในขณะนี้ ประเมินว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ 16 ล้านคน ตลาดไทยเที่ยวไทย อยู่ที่ 60 ล้านคน-ครั้ง รายได้รวมทั้ง 2 ตลาด อยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาท ลดลงประมาณ 60% ทั้งในแง่ของรายได้และจำนวน หากเทียบกับปี 2562

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า หลังจากโควิด-19 คลายตัวลงแล้ว จะต้องพิจารณาว่า การเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไรต่อไป คนจะให้ความสำคัญกับอะไร โดยต้องมาประเมินว่าแหล่งท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปจะเป็นอย่างไร ทั้งที่กิน ที่พัก และยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งประเมินว่าในระยะเริ่มต้นน่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง ผ่านรถยนต์ส่วนบุคคล และเดินทางไปกันภายในครอบครัว หรือเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กมากๆ ก่อน ซึ่งจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากการเดินทางของตลาดไทยเที่ยวไทยในขนาดเล็กๆ แบบนี้ก่อน โดยประเมินว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ ภายในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ คนจะเริ่มออกเดินทางมากขึ้นทันที เพราะประเมินแล้วน่าจะรู้สึกอัดอั้นกับการจำกัดการออกจากบ้าน และการออกเดินทางในช่วงที่ผ่านมา

“หลังจากที่โควิด-19 คลายตัวแล้ว ททท.จะเดินหน้ากระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาคึกคักมากขึ้นอีกครั้ง แต่จะเปลี่ยนคำเป็นท่องเที่ยวไทยสุดวิบวับแทน เพื่อให้ดูทันสมัยมากขึ้น รวมถึงขอความร่วมมือในส่วนของการจัดประชุมสัมมนาจากหน่วยงานราชการ และองค์กรเอกชน เพื่อให้เป็นกลุ่มแรกๆ ในการเริ่มต้นเดินทางแบบวิบวับมากขึ้นได้” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์ต่างประเทศ คาดว่าน่าจะยังไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากเริ่มเห็นหลายสายการบินได้ส่งสัญญาณที่จะกลับมาเปิดให้บริการขึ้นบินได้ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้เช่นกัน ซึ่งแม้จะยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถบินได้จริงหรือไม่ หากยังมีการจำกัดการเดินทางเข้าและออกในไทย รวมถึงการที่ยังไม่เปิดสนามบินแบบเต็มรูปแบบ รวมถึงมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าประเทศไทย ที่คาดว่าจะยังเข้มข้นมากต่อไป อาทิ ต้องมีใบรับรองทางการแพทย์เพื่อยืนยันตัวตน ว่าไม่มีการนำเชื้ออะไรติดมาด้วย ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางออกไปบ้าง เพื่อให้รู้สึกว่าทุกอย่างความปลอดภัยจริงๆ รวมถึงประเทศไทยจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับต่างประเทศได้ว่า ทุกคนที่จะเดินทางเข้ามาจะต้องไม่ติดเชื้อโควิด-19 กลับไป โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีการเริ่มต้นเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ในประเทศที่มีระยะใกล้ๆ ก่อน อาทิ ประเทศในกลุ่มอาเซียน จีน ญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณในส่วนของสายการบินจีน ที่จะเริ่มกลับมาให้บริการตามปกติภายในเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับการกระตุ้นตลาดต่างประเทศ ททท. ไม่ได้นิ่งนอนใจแน่นอน เนื่องจากมีโครงการที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ทันที หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว โดยสิ่งสำคัญอีกเรื่อง เป็นความพร้อมในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งททท.ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย ทั้งในส่วนของโรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเทียบเคียงกับข้อปฎิบัติขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) หลังจากมีความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติแล้ว จะนำมาใช้เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับภาคการท่องเที่ยวต่อไป

Advertisement

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นมาตรการที่เอกชนต้องการมากที่สุดคือ การช่วยให้ภาคธุรกิจอยู่ได้ และรักษาการจ้างงานไว้ก่อน โดยต้องยอมรับว่า กลไกของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือของททท. เอง ไม่ได้มีความสามารถในการช่วยเหลือด้านนั้น แต่ทำได้ในส่วนของการประสานกับหน่วยงานที่มีความสามารถทำได้แทน โดยได้ลงนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกันระหว่างธนาคารออมสิน และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ในการเข้าไปดูแลมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท รวมถึงการผลักดันให้แรงงานในอุตสากรรมท่องเที่ยวทั้ง 13 สาขาอาชีพ อยู่ในกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เพื่อให้เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือจากประกันสังคม ซึ่งจากการดำเนินการไปทั้งหมด พบว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชนยังไม่มีข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา เพราะน่าจะพยายามเน้นให้ภาคธุรกิจอยู่ได้ต่อไป และดูแลพนักงานภายใต้การปกครองให้อยู่ได้ก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image