ส.อ.ท.คาดบทเรียนโควิดหลายประเทศย้ายฐานผลิตกลับ ชี้ไทยต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น

ส.อ.ท.หนุนรัฐผ่อนปรนมาตรการตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบค่อยเป็นค่อยไป ชี้หลังจบโควิด-19 โลกเปลี่ยน ประเทศพัฒนาแล้วพึ่งพาตนเองมากขึ้นอาจย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่ ไทยต้องเร่งปรับตัวทบทวนการพึ่งส่งออกและท่องเที่ยวจากต่างชาติให้น้อยลง

คอฟฟี่เบรกประจำวันเสาร์ที่ 18 เมษายน 2563 : ขอเวลาแป๊บ
เกรียงไกร เธียรนุกุล

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยที่มีแนวโน้มลดลงถือเป็นการบ่งชี้ถึงศักยภาพที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนรัฐที่จะผ่อนปรนมาตรการภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน รวมถึงการบังคับใช้กฏหมายหลังประกาศเคอร์ฟิวห้าม ประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.0 น.บนเงื่อนไขที่จะทุกฝ่ายจะต้องมีแผนและมาตรการคุมเข้มในการป้องกันการระบาดโควิด-19 อย่างรัดกุมด้วย

“ตัวอย่างประเทศที่เคยประสบความสำเร็จในการจัดการการแพร่ระบาดในระยะแรกได้ดีแต่พอปลดล็อคดาวน์ตัวเลขพุ่งอย่างน่าตกไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น รัฐจึงต้องนำบทเรียนนี้มาทบทวน ผมเห็นด้วยว่าภาคการผลิตต้องเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละส่วนมีมาตรการคุมเข้มอยู่แล้ว หากพนักงานติดเชื้อเพียงรายเดียวต้องหยุดไลน์ผลิต ดังนั้นส่วนอื่นๆต้องดดูว่าจะป้องกันอย่างไรหากจะผ่อนปรนมาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไป”นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นและจบลง ทุกภาคส่วนของไทยจะต้องเตรียมรองรับ นโยบายด้านการค้าและการลงทุนจะเปลี่ยนไป นักวิเคราะห์ต่างชาติเริ่มออกมาส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า โควิด-19 ได้ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนัก เพราะฐานการผลิตเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯมาอยู่ในแถบเอเชีย อาทิ จีน แทน ดังนั้นอนาคตอันใกล้หลังจบโควิด-19 อาจมีการโยกย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของโลกได้เพื่อให้ประเทศได้มีการพึ่งพาตนเองมากขึ้นยามเหตุฉุกเฉิน

Advertisement

“สงครามการค้าทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนไปแล้วบางส่วนแต่โควิด-19 อาจจะเกิดการย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่สุด และต่อไปนโยบายการค้าและการลงทุนจะเปลี่ยนไปทำให้หลายประเทศต้องมาทบทวนความมั่นคงการผลิตด้านสาธารณสุข อาหาร สาธารณปโภคและพลังงานมากขึ้น เช่นเดียวกับกติกาการค้าโลก อาทิ องค์การการค้าเสรี และ เขตการค้าเสรีต่างๆ อาจมีการทบทวน“นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติรวมสัดส่วนสูงถึงกว่า80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกรณีโควิด-19 นี้ทำให้ไทยจำเป็นต้องทบทวนบทบาทดังกล่าว เช่นเดียวกับภาคการผลิตและธุรกิจที่จะต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะธุรกิจในอนาคตที่จะมามีบทบาทมากขึ้นคือ ไอทีและดิจิทัล การค้าขายที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจการเงินที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image