ทั่วโลกชื่นชม ‘ไทย’ คุมติดเชื้อ โควิด-19

ทั่วโลกชื่นชม ‘ไทย’ คุมติดเชื้อ โควิด-19

โควิด-19 – ท่ามกลางการรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ
โควิด-19 ทั่วโลก ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 มีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากกว่า 2.4 ล้านราย เสียชีวิต
1.65 แสนราย รักษาหาย 6.2 แสนราย

โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยสะสมมากที่สุดในโลก 7.6 แสนราย เสียชีวิตกว่า 4 หมื่นราย ส่วนสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร เกาะกลุ่มตามมา ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1.2 แสนจนเกือบถึง 2 แสนราย โดยมีผู้เสียชีวิตรวมกับเกือบ 9 หมื่นราย

เมื่อกล่าวถึงประเทศไทย นับตั้งแต่ล่าสุดที่มีผู้ติดเชื้อตัวเลข 3 หลัก คือ 111 ราย เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนที่ยอดผู้ติดเชื้อวันถัดมาหรือ 9 เมษายน ลงมาที่ 54 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาเรื่อยๆ จนเมื่อ 20 เมษายน มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 27 ราย ไม่มีเสียชีวิต ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 47 ราย

Advertisement

ตัวเลขเหล่านี้ก่อนให้เกิดเสียงสะท้อนความคิดเห็นจากต่างชาติตามมา

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ แถลงข่าวเรื่อง “ไวรัสโควิด-19”
นำผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่าอเมริกาครองอันดับ 1 เป็นประเทศที่รับมือกับโรคระบาดได้ดีที่สุดในโลก และเอ่ยชื่อ “ไทยแลนด์” ที่ติดในอันดับ 6 เป็นประเทศกำลังพัฒนารายเดียวที่ติดท็อปเท็นและยังเป็นที่ 1 เอเชีย การจัดอันดับนี้เป็นการวัดดัชนีความมั่นคงด้านสาธารณสุขโลก ที่เห็นถึงความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาด

วิเคราะห์ 6 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย การป้องกัน การตรวจจับและรายงาน ความรวดเร็วในการโต้ตอบและรับมือ ระบบสาธารณสุข มาตรฐานการปฏิบัติตามบรรทัดฐานโลก และความเสี่ยงต่างๆ ไทยมีคะแนนรวม 73.20 คะแนน

Advertisement

ขยับมา 8 เมษายน ไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

ไมเคิลกล่าวชื่นชมมาตรการของรัฐบาลไทย ส่งผลให้มีแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นแนวราบ
ส่วนองค์การอนามัยโลก หรือฮู กล่าวกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข เมื่อ 22 มกราคม 2563 ว่า “กระทรวงสาธารณสุขควบคุมปัญหาได้ดี มาตรฐานการควบคุมโรคเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก”

ต่อมา 20 มีนาคม อนุทินหารือกับ นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนอนามัยโลกประจำประเทศไทย ที่กล่าวชมมาตรการของไทยรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม มีการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนได้เป็นประเทศแรก และยังติดตามผู้ติดเชื้อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อได้อย่างทันท่วงที

การที่กระทรวงสาธารณสุขใช้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมได้ดีกว่าการใช้วัคซีน

จากนั้น 14 เมษายน ประเทศไทยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมลดน้อยลงมาก องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ชื่นชมไทยมีระบบการดูแลสุขภาพถึงระดับครอบครัว คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1,040,000 คน ทำให้ดูแลคนได้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ ดร.จอห์น แมคอาร์เธอร์ ผอ.ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐ หรือซีดีซี ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขไทยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 เฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อที่เมืองอู่ฮั่น เพราะตระหนักดีว่ากรุงเทพฯเป็นจุดหมายการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวเมืองอู่ฮั่น มีการคัดกรองผู้โดยสารจากเมืองอู่ฮั่นที่สนามบิน จนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563

มาที่สื่อเยอรมนี โดยเมื่อ 10 มีนาคมที่ผ่านมา Andreas Gandzior เขียนลงเว็บไซต์ Berliner Morgenpost ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีควรเรียนรู้จากไทยในการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ่งที่น่าชื่นชมคือมาตรการต่อสู้รับมือกับโควิด-19 ของไทย ที่ต่อเนื่องมากกว่าที่พบเห็นในกรุงเบอร์ลิน

“ไม่ว่าจะเดินทางไปตรงไหนของกรุงเทพฯ ประชาชนส่วนใหญ่รวมถึงชาวต่างชาติส่วนหนึ่งต่างสวมใส่หน้ากากป้องกันตัวเอง มีขวดเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือตั้งวางไว้ ทุกคนต่างก็กดใช้ สิ่งที่พบเห็นได้มากที่สุดก็คือ ป้ายประกาศวิธีการปฏิบัติรับมือกับโรคโควิด-19

รวมทั้งมีการสั่งปิดเมือง ยกเลิกหรือเลื่อนกิจกรรมผู้คนมารวมตัวกันมากๆ แต่การให้ความรู้ และการเตรียมเจลแอลกอฮอล์ แม้จะดูมากเกินไปกลับเป็นสิ่งที่เรียกว่าความสม่ำเสมอต่อเนื่อง สมควรนำมาเป็นแบบอย่าง”

ขณะที่เมื่อ 13 มีนาคม บีบีซีไทย โดย นพพร วงศ์อนันต์ รายงานว่า เจเรมี ฮันต์ อดีต รมว.สาธารณสุข วิจารณ์ชาติตัวเองว่า “ขยับตัวยังไม่เร็วพอ” ในการสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ขอให้รัฐบาลอังกฤษออกมาตรการเร่งด่วน ให้ดูตัวอย่างการต่อสู้กับเชื้อไวรัสของระบบสาธารณสุขของไทย ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงกังขาแสดงความสงสัยประเทศไทยและชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ต่อมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19

เว็บไซต์ voathai.com นำเสนอเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 อ้างถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแสดงความสงสัยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบางประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในระดับต่ำ อาจชี้ให้เห็นถึงการทดสอบผู้ติดเชื้อที่จำกัด ทำให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกมาตรการควบคุมและป้องกันต่างๆ ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากไปกว่าที่เป็นอยู่

มาร์ค ซิมเมอร์แมน ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ทำงานในประเทศไทย เคยทำงานที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐ หรือ CDC ในช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ให้ความเห็นว่า ตัวเลขที่ดูต่ำน่าจะเป็นผลมาจากการทำการทดสอบผู้ติดเชื้อที่จำกัด และระบบระวังภัยในประเทศเหล่านี้ที่ยังไม่ทั่วถึง ตัวเลขไม่น่าจะสะท้อนความเป็นจริงสักเท่าใด

“ขณะเดียวกัน เพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ต่างมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับหลักพัน และผู้เชี่ยวชาญในประเทศเหล่านี้ได้แสดงความเห็นไว้แล้วว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงอาจสูงกว่าที่เห็น เพราะข้อจำกัดด้านการทำการทดสอบเช่นกัน ทั้งนี้ ลาวแจ้งว่าได้ทดสอบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ไปเพียง 131 ราย ณ ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนพม่ามีประชากร 54 ล้านคน ทดสอบไปราว 300 รายเท่านั้น แตกต่างเกาหลีใต้ ที่ทดสอบไปแล้วหลายแสนคน และยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กว่า 9,000 รายแล้ว”

ซิมเมอร์แมนกล่าวว่า แม้หลายประเทศจะดำเนินมาตรการรักษาระยะห่าง พร้อมยกเลิกกิจกรรมที่ผู้คนจะมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากไปแล้ว ผลกระทบของข้อจำกัดในการทดสอบผู้ติดเชื้อ อาจทำให้มาตรการทั้งหมดไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะตัวเลขที่ไม่สูงจนน่าตกใจ อาจทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความวางใจและไม่คิดว่าต้องลงมือทำการใดๆ อย่างเร่งด่วน

ขณะที่ แมทธิว กริฟฟิธ นักระบาดวิทยาแห่งองค์การอนามัยโลก ประจำสำนักงานกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เผยว่า ในความเป็นจริงไม่มีประเทศใดที่ทดสอบผู้ติดเชื้อมากเพียงพอและสอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้

ดังนั้นประเด็นข้อจำกัดด้านการทดสอบไม่ใช่ปัญหาของบางประเทศ เช่น ลาว เท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลกในเวลานี้

นี่คือสถานการณ์โลกมองไทยในความหลากหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image