‘นักวิชาการ’ แนะค่ายมือถือ ผุดมาตรการเยียวยาปชช. แบบรัฐไม่ต้องบังคับ

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทั้งโครงการเพิ่มอินเตอร์มือถือเพิ่มฟรี 10 กิกะไบต์ และอัพสปีดอินเตอร์เน็ตบ้านเป็น 100 เมกะบิต ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี เนื่องจากไม่มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนและไม่จำกัดจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ เพียงแต่ต้องมีการกดลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนต่อเนื่อง กสทช. จึงมีมาตรการในการให้สิทธิ์ประชาชนโทรฟรีทุกเครือข่ายจำนวน 100 นาที ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่รอความช่วยเหลือ หรือผู้ที่คาดหวังว่าจะมีการปรับลดอัตราค่าบริการต้องผิดหวัง แต่ก็ถือว่ากระทรวงดีอีเอสและ กสทช. ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว

นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก พบว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ในหลายประเทศมีข้อเสนอในการให้ความช่วยเหลือกับประชาชน อาทิ การปรับลดอัตราค่าบริการ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องมีการกวดขันหรือขอความร่วมมือ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นบรรทัดฐาน แต่เป็นเรื่องของการซื้อน้ำใจหรือเป็นการสร้างความประทับใจ ซึ่งโอเปอเรเตอร์จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน

“หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อ อยากให้โอเปอเรเตอร์ลองพิจารณาความช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ต้องออกเป็นมาตรการที่กระทรวงดีอีเอส และ กสทช. ต้องเรียกเข้ามาหารือ หรือเป็นการบังคับ คือการดำเนินการที่ว่าคนไทยต้องไม่ทิ้งกัน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อวิกฤตผ่านพ้นคนไทยทุกคนจะไม่ลืมว่าเคยได้รับความช่วยเหลือ และโดยเฉพาะภาวะการณ์เช่นนี้ไม่อยากให้มองว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์หรือใครเป็นผู้เสียประโยชน์ แต่อยากให้เอาเรื่องการช่วยเหลือกันเป็นที่ตั้ง เพราะแม้จะบอกว่าโอเปอเรเตอร์เป็นผู้เสียประโยชน์ แต่ก็เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในเครือข่ายของของคุณทั้งนั้น” นายสืบศักดิ์ กล่าว

นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหากไม่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปีนี้จะเป็นปีทองของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งคาดว่าจะมี 5G เกิดขึ้น และที่ผ่านมา กสทช. ก็มีการดำเนินการตามโรดแมปการขับเคลื่อนทั้งการจัดการประมูลคลื่นความถี่ และอื่นๆ ได้รวดเร็วเป็นอย่างดี ฉะนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงคาดว่า กสทช. อาจจะมีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือ โดยใช้ความร่วมมือของโอเปอเรเตอร์ในมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ประกอบการพิจารณา แต่ก็ไม่อยากให้มองว่าเป็นการต่อรอง เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน

Advertisement

นายวีรเดช พาณิชย์วิสัย ผู้จัดการฝ่ายการวิจัยด้านโทรคมนาคม และการสื่อสาร บริษัท ไอดีซี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า มองว่ามาตรการการให้สิทธิ์ประชาชนโทรฟรีทุกเครือข่ายจำนวน 100 นาที ยังเกาไม่ถูกจุด และโอเปอเรเตอร์จะไม่กลืนเลือดเท่าไรนัก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ใช้บริการในปัจจุบันมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตมากกว่าการโทร ส่งผลให้ปริมาณการโทรมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นมาตรการที่ดีที่ กระทรวงดีอีเอส และ กสทช. พยายามที่จะเชื่อเหลือประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

นายวีรเดช กล่าวว่า ทั้งนี้ มีข้อเสนอว่าหากเป็นไปได้อยากให้โอเปอเรเตอร์ใช้ฐานข้อมูลที่แต่ละรายมีอยู่เพิ่มสิทธิ์ให้กับลูกค้า โดยไม่ต้องให้ลูกค้ากดลงทะเบียนรับสิทธิ์ เพราะอาจเกิดช่องว่างทำให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือไม่เข้าใจไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว รวมถึงควรมีการส่งเอสเอ็มเอสไปยังลูกค้าที่เข้าเงื่อนไขได้รับสิทธิ์ เพื่อขยายความช่วยเหลือไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ตรงจุดมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image