แบงก์กรุงเทพยังยิ้มได้ กำไรไตรมาสแรกปี’63 กว่า 7.6 พันล้าน

แบงก์กรุงเทพยังยิ้มได้ กำไรไตรมาสแรกปี’63 กว่า 7.6 พันล้าน

แบงก์กรุงเทพ – เมื่อวันที่ 21 เมษายน ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ แจ้งว่า ในไตรมาสแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างหนักจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 การส่งออก และการนำเข้าสินค้าของไทยลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่มาตรการในการควบคุมโรคของหลายประเทศ เช่น การจำกัดการเดินทาง และการปิดเมือง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง กอปรกับมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยการหยุดกิจการชั่วคราวของห้างสรรพสินค้า สถานที่ให้บริการต่างๆ สถานบันเทิง รวมถึง การกำหนดมาตรการเคอร์ฟิว ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น.ทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงอย่างมาก นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

จากผลกระทบดังกล่าว รัฐบาลได้เร่งดำเนินการออกมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงิน และการคลัง เพื่อผ่อนคลายผลเชิงลบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประชาชน และผู้ประกอบการในภาคต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการนี้ ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้า ผู้ประกอบการ และประชาชน สามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้

โดยที่ผ่านมาธนาคารออกมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนมาตรการของภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูแล และให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการให้มีเงินทุน และสภาพคล่อง เพียงพอในการดำเนินธุรกิจ และรักษาการจ้างงาน และช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระทางการเงิน เพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทย่อย รายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสแรก จำนวน 7,671 ล้านบาท ไตรมาส 1 ปี 2563 ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 จากไตรมาส 4 ปี 2562 จากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate) ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 2.52

Advertisement

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิลดลงร้อยละ 22.4 ส่วนใหญ่ลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ สำหรับรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงจากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากไตรมาส 4 ปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจากเงินลงทุนจำนวน 14,988 ล้านบาท กอปรกับเครื่องมือทางการเงินประเภทที่มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่กำหนดให้วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมมีมูลค่าลดลงตามสภาวะตลาดเงิน และตลาดทุนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 28.8

ทั้งนี้ ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสีย โดยจัดให้มีมาตรการป้องกัน และดูแลการติดเชื้อ โดยมีการประชุมในระดับฝ่ายจัดการอย่างใกล้ชิด และจัดการปรับเปลี่ยนการป้องกันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลานับแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 43.1 สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับไตรมาสแรกลดลงมาก เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนการเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9)

นอกจากนี้ ฐานะการเงิน และเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,115,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากสิ้นปี 2562 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามประมาณการที่คาดไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ขณะที่เงินสำรองของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 203.9 ของเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต

Advertisement

ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเคียงข้าง และดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ นอกจากนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อ และบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ทั้งในภาวะเศรษฐกิจปกติ และภาวะถดถอย

ธนาคารยังคงรักษาเงินกองทุน และสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 84.2 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.5 ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 15.7 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

การนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่มาถือปฏิบัติ โดยธนาคาร และบริษัทย่อย ได้นำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบย้อนหลัง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน การคำนวณการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินโดยใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image