ป้ามล สงสัยกระทรวง พม.ทำอะไรอยู่ หลัง ปชช.เดือดร้อนโควิด-19 ไม่มีเงิน เข้าไม่ถึงเงิน 5 พันบาท

ป้ามล สงสัยกระทรวง พม.ทำอะไรอยู่ หลัง ปชช.เดือดร้อนโควิด-19 ไม่มีเงิน เข้าไม่ถึงเงิน 5 พันบาท

เมื่อวันที่ 22 เมษายน นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่ได้มีแค่ปัญหาสุขภาพ พบว่าในมุมสุขภาพทีมสาธารณสุขไทยสามารถยึดอำนาจจากรัฐบาล ทำให้จัดการเชื้อได้อย่างเข้มแข็ง แต่มาตรการทางสาธารณสุขอย่างเดียว ไม่สามารถประคับประคองทุกอย่างไปได้ ต้องมีมาตรการอื่นๆ มาช่วยสนับสนุน อย่างตอนนี้ชัดแล้วว่าเมื่อคนถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้าน สถานประกอบการต่างๆ ต้องหยุดลง ตามกฎเหล็กที่สาธารณสุขได้วางไว้ ก็นำมาสู่ภาพที่คนตกงานไม่มีเงิน

นางทิชา กล่าวอีกว่า ส่วนการที่รัฐออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 5 พันบาทต่อเดือน พบว่ามาตรการนี้ไม่ตอบโจทย์ เห็นได้จากความวุ่นวาย ความไม่คิดเชิงระบบ ซึ่งช่องว่างทั้งหมดเหล่านี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะต้องออกมาช่วย โดยเฉพาะคนที่มีสายป่านสั้นที่สุด เช่น ลูกจ้างรายวัน ที่ไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน และยังไม่มีเงินเก็บสะสม แต่กลายเป็นว่า พม.กลับไม่ชัด ว่าจะพูดหรือทำอะไรออกมา

“อย่างมาตรการช่วยเหลือคนตกงานและคนไร้บ้านของ พม.ก่อนหน้านี้ ที่ให้มาอยู่ที่พักพิงสะอาด อาหาร 3 มื้อฟรี แต่เอาไปเอามาก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะตั้งรับเกินไป ทั้งที่ในสถานการณ์นี้ต้องรุก หากมีกฎเกณฑ์อะไรที่เป็นอุปสรรค ก็ต้องขจัดข้อจำกัดให้หายไป อย่ากลัว อย่าอยู่ในคอมฟอร์ดโซน”

ถามปัจจุบัน พม.ก็มีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด ทั้งลงพื้นที่สำรวจชุมชนนำร่องในกรุงเทพฯ เพื่อให้การช่วยเหลือ นางทิชา กล่าวว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ ช่วงที่เราต้องช่วยช่วงชิงกับความเป็นความตาย โดยเฉพาะกับคนที่สายป่านสั้น มันจะมาสำรวจหาข้อมูลอย่างนี้ไม่ได้ ฉะนั้นอยากเสนอให้ พม.ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ทั้งองค์กรชุมชน เอ็นจีโอ อย่างกรณีช่วยเหลือคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ให้จับมือกับมูลนิธิอิสรชน และมูลนิธิกระจกเงา ที่สามารถเข้าถึงคนเหล่านี้ได้ดีกว่า โดย พม.ต้องเคารพความแตกต่างในการทำงาน

Advertisement

“ถ้าถามว่าสิ่งที่ พม.ทำอยู่ มันตอบโจทย์หรือไม่ตอบโจทย์ ก็ให้วัดจากความทุกข์และเสียงร่ำไห้ของประชาชน สถานการณ์ปัญหา หากยังมีอยู่แสดงว่ากลไกของรัฐ ซึ่งมี พม.อยู่ด้วย ยังไม่รุกจริงจัง

“แต่หากยังหากอ้างว่ามีงบน้อย คนน้อย ก็ต้องถามว่าได้คุยกับรัฐบาลหรือยัง มีข้อมูลไปนำเสนอ มีแผนว่าจะทำอะไรไปนำเสนอหรือยัง เพราะหากเพียงนั่งอยู่ในที่ประชุม นั่งเป็นไม่ประดับ แล้วแต่หัวโต๊ะจะว่าอะไร สั่งซ้ายหันขวาหัน เขาก็ไม่รู้ปัญหา เพราะไม่ได้ถูกสะท้อนออกมา แต่หากมีข้อมูลและแผนไปนำเสนอ และยืนยันว่าจะเป็นประโยชน์กับคนนั่งหัวโต๊ะได้ เชื่อว่าก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงรุกได้มากกว่านี้ ฉะนั้นต้องถาม พม.ว่ามีข้อมูลและแผนหรือยัง” นางทิชา กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image