สถานีคิดเลขที่ 12 : คลายก่อหนี้(ด้วย) โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ค่อนข้างแน่นอนว่า รัฐบาลจะขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไป

ซึ่งก็ไม่ขัดข้อง

หากนั่นคือสิ่งที่จะทำให้ภาวะ “การ์ดไม่ตก” จุดแข็งสุดในการตั้งรับไวรัสดำเนินต่อไป

กระนั้น เราคงจะซ่อนอยู่ใน “การ์ด” ตลอดไปไม่ได้

Advertisement

ต้องคิดถึงวิธีคลายการ์ดเพื่อปล่อยหมัด รุกกลับด้วย

เพราะตอนนี้ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะไวรัส หากแต่มีปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมด้วย

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะทำให้เกิดภาวะ “สมดุล” ระหว่างยกการ์ดกับคลายการ์ด

Advertisement

จะถือเป็นการวัดฝีมือรัฐบาลครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้ง

ก็หวังว่าจะทำได้ และสร้างความมั่นใจให้ประชาชนพร้อมร่วมมือ ฟันฝ่าไปด้วยกัน

ไม่ใช่พูดอย่าง ทำอย่าง

ซึ่งบอกตรงๆ ว่า มันไปเพิ่มการล็อกในใจที่ไม่อยากร่วมมือกับ “ฝ่ายที่มีอำนาจ”

ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ

แม้จะมีการอ้างว่า เลื่อนแล้ว ลดแล้ว ตามนโยบาย

แต่เอาเข้าจริงโครงการ “ซื้อ” ก็ยังคงดำรงอยู่ เพียงแต่ยืดเวลาออกไปเท่านั้น

คนไทยเสียรู้มาตลอดเกี่ยวกับ “ไม้ตาย” การซื้ออาวุธ

ที่มักจะมีแบ่งงวดการซื้อหรือชำระออกไปหลายปี ทำให้ดูแต่ละปีใช้เงินไม่มาก

ปีต้นๆ จะจ่ายน้อยไว้ก่อน แต่ไปหนักในปีหลัง

ซึ่งถึงตอนนั้นหากมีเหตุไม่คาดฝัน หรือมีคนโวยขึ้นมาว่าทำไมจ่ายมากขนาดนั้น

ก็จะมีคำชี้แจงแบบซ้ำๆ และเราได้ฟังกันไม่รู้กี่ครั้งออกมา

นั่นก็คือ เป็นโครงการที่อนุมัติมาแล้ว ผูกพันไปแล้ว ยกเลิกไม่ได้

แถมอาจจะเป็นบุญคุณด้วยการบอกว่าจะไปเจรจาขอเลื่อนการจ่ายออกไปให้

แต่ก็แค่นั้น จะถึงขนาดไปขอยกเลิกโครงการแทบจะไม่มี

สุรชาติ บำรุงสุข ให้ข้อมูลไว้ในยุทธบทความ เรื่อง “อยากได้รถน้ำ ไม่ใช่เรือดำน้ำ อยากได้รถพยาบาล ไม่ใช่รถถัง” ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่วางแผงตอนนี้ ถึงการก่อหนี้ผูกพันของหน่วยงานต่างๆ น่าสนใจ

ปรากฏว่ากระทรวงกลาโหมก่อหนี้นี้สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากกระทรวงคมนาคม

มีมากถึง 49 รายการ (เฉพาะรายการที่มีวงเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป)

มูลค่าหนี้ที่เป็นงบฯ ผูกพันในงบประมาณปี 2563 มูลค่า 10,991.2 ล้านบาท

ปี 2564 มูลค่า 19,910.2 ล้านบาท

ปี 2565 มูลค่า 16,541.1 ล้านบาท

ปี 2566 มูลค่า 4,664.5 ล้านบาท

ภาระงบฯ ผูกพันในปีต่อๆ ไป มูลค่า 9,213.7 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อขาดอีก 3,062.9 ล้านบาท

หากรวมเฉพาะ 4 ปี (จากปีงบประมาณ 2563-2566) งบฯ ผูกพันจะมีจำนวนสูงถึง 52,107 พันล้านบาท

แต่หากต้องรวมถึงงบฯ ผูกพันของโครงการทั้งหลายนี้ในช่วงหลังจากปีงบประมาณ 2566 แล้ว จะมีมูลค่าสูงถึง 62,320.7 ล้านบาท

และเมื่อรวมเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้ของกลาโหมจะมีมากถึง 64,383.6 พันล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับกระทรวงคมนาคมที่มีหนี้จากงบฯ ผูกพันมากเป็นอันดับ 1 จำนวนถึง 93,966 พันล้านบาท

พบว่ามากกว่าร้อยละ 84 ของงบฯ นี้ถูกใช้เพื่อการสร้างถนน สร้างการคมนาคม ซึ่งเป็นความจำเป็น

สังคมเข้าใจได้ไม่ยาก

แต่การก่อ “หนี้ทหาร” เป็นข้อสงสัยในสังคมว่าจำเป็นเพียงใด

ด้วยภัยคุกคามของความมั่นคงในวันนี้เป็นรูปแบบใหม่

ภัยโรคระบาด ภัยแล้ง ภัยฝุ่น ภัยไซเบอร์ และภัยก่อการร้าย เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลและกองทัพจะไม่ได้ลงทุนในการต่อสู้กับภัยคุกคามใหม่เช่นนี้นัก

ยังตกหล่ม “ความมั่นคงเก่า” ที่แลเห็นแต่การทำสงครามที่เอาปืนใหญ่ รถถัง เรือดำน้ำไปยิงกัน

ไม่ได้คำนึงถึงยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไป

จนเราในฐานะประชาชนไม่มั่นใจว่าควรจะร่วมเป็นร่วมตายกับแนวคิดเดิมๆ หรือไม่

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image