ถอดบทเรียน ‘สิงคโปร์’พลิก ป่วยที่ 1 อาเซียน

ถอดบทเรียน ‘สิงคโปร์’พลิก ป่วยที่ 1 อาเซียน

 สิงคโปร์เป็นชาติแรกๆ ในเอเชียนอกเหนือจากจีนที่พบผู้ติดเชื้อก่อโรคระบาด โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ 2019 หรือโควิด-19 โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรกราว 1 สัปดาห์ หลังจากที่ไทยพบนักท่องเที่ยวชาวจีนนำเชื้ออันตรายนี้เข้ามาในประเทศเมื่อ 13 มกราคม 2563

ที่น่าสนใจก็คือ 2 เดือนแรกของการระบาด สิงคโปร์ควบคุมสถานการณ์ได้ดีเยี่ยม ดีเสียจนทุกคนยกย่อง ชมเชย พร้อมกับคำพูดติดปากใครต่อใครหลายคนว่า ดูตัวอย่างสิงคโปร์สิ! หรือไม่ก็ ทำแบบสิงคโปร์สิ ถึงจะเอาอยู่

สิ่งที่อยู่ในใจหลายคนในเวลานั้นก็คือ สิงคโปร์น่าจะเป็นชาติแรกๆ ที่ “พ้นพงหนาม” การแพร่ระบาด และน่าจะเริ่มขั้นตอนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและจิตใจของคนในชาติได้ก่อนใคร

แต่แล้วสถานการณ์พลิกผัน ถึงตอนนี้ สิงคโปร์ไม่เพียงเป็นชาติที่เกิดการแพร่ระบาดมากที่สุดในบรรดาชาติอาเซียนด้วยกัน ยังมีเค้าลางอีกด้วยว่า การแพร่ระบาดที่นี่จะยืดเยื้อมากที่สุด อย่างน้อยก็จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งมาตรการ “เซอร์กิต เบรกเกอร์” เข้มงวดของรัฐบาลกำหนดไว้

Advertisement

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้น? อะไรคือปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลายใหญ่โตอยู่ในเวลานี้?

-การเลือกปฏิบัติในสังคม
กลางเดือนมีนาคม คลื่นการแพร่ระบาดระลอกที่สองปรากฏขึ้นที่สิงคโปร์ คล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในฮ่องกงและไต้หวัน นั่นคือ เริ่มต้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดขนานใหญ่ในต่างแดนไกลโพ้นอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา แล้วชาวสิงคโปร์ที่ไปปักหลักอยู่ในสถานที่เกิดการระบาดเหล่านั้นก็เร่งรีบเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน

หลังจากนั้น ไม่ว่าฮ่องกงก็ดี ไต้หวันก็ดี สามารถคุมจนเหลือผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละไม่กี่ราย ต่ำสิบเรื่อยไปจนถึงไม่มีเลยในกรณีของไต้หวัน สิงคโปร์กลับพบการระบาดเพิ่มพรวดพราดแบบที่นักระบาดวิทยาเรียกว่า “การแพร่แบบระเบิด” ไม่นานยอดติดเชื้อสะสมก็ทะลุหมื่น

Advertisement

“สองเดือนแรกเราเอาแต่ฉลอง แสดงความยินดีให้กับตัวเองอยู่นั่นแหละ” อเล็กซ์ อู๋ รองประธานกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ทรานเซียนท์ เวิร์กเคอร์ส เคานท์ ทู (ทีดับเบิลยูซี 2) บอกกับวอชิงตัน โพสต์

“ถ้าใครใส่ใจจะเหลือบแลสักนิด ก็จะเห็นทันทีว่า อันตรายอยู่ตรงหน้านี่เอง”

อันตรายที่ว่านั้นก็คือ แรงงานอพยพที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้ามาทำงานในสิงคโปร์ ซึ่งไม่เพียงมีประชากรจำนวนจำกัดอย่างยิ่ง ยังหลีกเลี่ยงที่จะทำงานหลายต่อหลายอย่าง เปิดทางให้ต้อง “นำเข้า” แรงงานที่เกือบทั้งหมดมาจากเอเชียใต้เหล่านี้เข้ามามากเกือบ 300,000 คน เพื่อทำงานที่ “คนสิงคโปร์ไม่ทำ”

ถูกยัดเข้าไว้รวมกันอยู่ใน “หอพักคนงาน” ขนาดใหญ่ 43 แห่ง ที่กระจายกันอยู่ทั่วสิงคโปร์
อเล็กซ์ อู๋ ยืนยันว่า แรงงานนำเข้าเหล่านี้ไม่เคย “อยู่ในสายตา” ของทางการสิงคโปร์เลยตั้งแต่แรกเริ่มวางแผนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด ทุกอย่าง “โฟกัส” ไปที่พลเรือนสิงคโปร์ทั้งสิ้น

ตั้งแต่การแจกจ่ายหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อ แพร่เชื้อ, เจลล้างมือหรือน้ำยาเพื่อทำความสะอาด เรื่อยไปจนถึงหน้ากากผ้าใช้ซ้ำได้ซึ่งแจกจ่ายกันเฉพาะแต่ในครัวเรือนสิงคโปร์

ชาวสิงคโปร์แท้ๆ ที่เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้รับการกักกันโรคในโรงแรมระดับ 4 ดาว 5 ดาว ที่รัฐบาลควักเงินจ่ายให้ทั้งหมด

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพมองไม่เห็น ไร้ตัวตนของคนงานต่างชาติ กลไกทั้งหมดของประเทศขับเคลื่อนไปราวกับไม่มีคนเหล่านี้อยู่ด้วยเลยแม้แต่คนเดียว” อเล็กซ์ อู๋ ย้ำ

เฮลธ์เซิร์ฟ องค์การไม่แสวงกำไร ซึ่งให้บริการทางการแพทย์ราคาถูกแก่คนงานต่างชาติระบุว่า คนเหล่านี้ตื่นตัว รู้สึกไม่สบายใจ กระวนกระวายมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ด้วยตระหนักดีว่าสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดของตัวเอง เพิ่มความเสี่ยงมหาศาลที่จะติดเชื้อ

แต่กฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แพทย์-พยาบาลอาสาของคลินิกแรงงานเช่นนี้ไม่สามารถให้บริการนอกเวลาได้ต่อไป ผลก็คือบริการของเฮลธ์เซิร์ฟต้องลดลงมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์

แม้จะมีหอพักให้ มีห้องพักให้ แต่สภาพความเป็นอยู่ชนิด 10-12 คนต่อห้อง ทำยังไงก็ไม่สามารถสร้าง “โซเชียล ดิสแทนซิ่ง” ที่มีประสิทธิภาพได้แน่นอน

ถึงตอนนี้ หอพักเหล่านี้ซึ่งแต่ละหอมีแรงงานอยู่ประมาณ 25,000 คน ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในห้องไปแล้วทั้งหอรวม 25 หอพัก

ที่เหลือยังสามารถออกจากห้องได้ แต่ไม่สามารถออกนอกบริเวณของหอพักได้

ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 12,075 ราย ที่สิงคโปร์ในเวลานี้ เป็นแรงงานต่างชาติอยู่ราว 70 เปอร์เซ็นต์

กลับกลายเป็นเป้าให้ถูกชาวสิงคโปร์บางคน “ตีตรา” ว่าเป็นแหล่งเชื้อโรค เป็นพวกสกปรก เหมือนในจดหมายจากชาวสิงคโปร์รายหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าจดหมายของ เหลียนเหอ เจ่าเป้า หนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ขายดีที่สุดในสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้

ก่อนที่จะมีเสียงตอบจากคนสิงคโปร์ที่เที่ยงธรรมในโลกออนไลน์ขนานใหญ่ว่า เฮ้ แรงงานเหล่านี้ไม่ได้นำโควิด-19 เข้ามาในสิงคโปร์นะ

คนสิงคโปร์ต่างหากที่แพร่เชื้อให้พวกเขา!

-แหล่งแพร่เชื้อ‘ซ่อน’
มีคำถามชวนให้คิดอย่างยิ่งว่า ปัจจัยเรื่องแรงงานต่างด้าวอย่างเดียวจะส่งผลให้สิงคโปร์ตัดสินใจใช้มาตรการเข้มข้น “เซอร์กิต เบรกเกอร์” ไปจนถึงมิถุนายนเชียวหรือ? หรือสิงคโปร์มีความกังวลอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย ถึงได้ยอมให้เศรษฐกิจบอบช้ำต่อไปอีกขนาดนั้น?

คำตอบคือสิงคโปร์ยังมีสถิติของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นเรื่อง “กวนใจ” นักหนาอยู่อีกประการหนึ่ง

นั่นคือ ในทุกๆ 25 คนของผู้ติดเชื้อใหม่ที่เป็นคนสิงคโปร์จริงๆ หรือเป็นผู้ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในสิงคโปร์ และได้รับการตรวจยืนยันแล้วนั้น มีมากถึง 17 คน ที่ไม่รู้ว่าไปติดเชื้อมาจากไหน

คิดเป็นสัดส่วนแล้วมากมายมหาศาล คือ 68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อยืนยันในสิงคโปร์ ไม่รู้ที่มา!

กระพือให้ข้อสงสัยที่ว่า สิงคโปร์จะมี “ฮิดเดนเรเซอร์วาร์” หรือ “แหล่งแพร่เชื้อซ่อน” ขนาดใหญ่อยู่ในสังคม แพร่หลายกว้างขวางมากขึ้นไปอีก

ขนาดนายกรัฐมนตรี ลี เซียน หลุง ยังยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเหตุผลหนึ่งในการขยายมาตรการเข้มของรัฐบาลออกไปอีกเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อใหม่วันละไม่ถึง 10 คน แต่ในเดือนเมษายนนี้มีอย่างน้อย 3 วันแล้วที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อใหม่วันหนึ่งๆ เกินกว่า 1,000 ราย

เป็นไปได้หรือที่มีแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครรู้ซุกซ่อนอยู่?

คำอธิบายที่เป็นไปได้มีอยู่ 2 ทาง

เตียว ยิก อิง คณบดีสำนักสาธารณสุข ซอว์ สวี ในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) ชี้ให้เห็นว่า เป็นไปได้ที่ว่า ในช่วงแรกๆ ที่มีผู้ป่วยไม่มากนัก ระบบตรวจสอบที่คนสิงคโปร์ภาคภูมิใจนักหนาที่เรียกว่า “คอนแทคต์ เทรซซิง” นั้น สามารถตรวจสอบลงลึกและได้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ แต่เมื่อมีงานในมือเยอะมากขึ้นการตรวจสอบก็ผิดพลาด พลั้งเผลอ ปล่อยให้หลุดมือไปมาก ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

ปัญหาของคำอธิบายนี้ก็คือ ถึงตอนนี้ ทางการสิงคโปร์เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สำหรับการ “คอนแทคต์ เทรซซิง” มากขึ้นกว่าเดิมแล้วหลายเท่าตัว

ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่เพื่อการนี้ของสิงคโปร์มีประมาณ 70-100 คน ทำงานเป็นกะตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 คน ทำงาน 24/7 เหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม?

เหลียง โฮ นัม ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและโรคติดต่อชาวสิงคโปร์ อธิบายถึงทางที่เป็นไปได้อีกทางว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจแสดงให้เห็นว่า มีผู้ติดเชื้ออีกเป็นจำนวนมากในสิงคโปร์ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการแต่น้อย และหายเองได้ แต่ในเวลาเดียวกันยังทำหน้าที่เป็น “พาหะของโควิด-19” อยู่อย่างต่อเนื่อง

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ บริติช เมดิคัล เจอร์นัล เมื่อ 2 เมษายนนี้ ระบุเอาไว้ว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่166 ราย มีมากถึง 78 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่แสดงอาการ

งานศึกษาวิจัยในสิงคโปร์เองระบุไว้ด้วยว่าพบผู้ป่วยจำนวนมากที่ “แพร่เชื้อ” ให้กับคนอื่นได้ “ก่อน” ที่ตัวเองจะแสดงอาการออกมาให้รู้ว่าติดเชื้อ

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์กำลังพิจารณาอยู่ว่า จะ “ทำการใหญ่” ด้วยการตรวจหาเชื้อในประชากรทั้ง 5.7 ล้านคน (สำมะโนเมื่อปี 2019) ทั้งหมดหรือไม่

เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถหาหนทางกันเอาผู้ติดเชื้อในหอพักแรงงานต่างด้าวออกไปให้หมด และหาแหล่งที่มาของการแพร่เชื้อที่มองไม่เห็นนี้จนพบ

ตราบนั้น สิงคโปร์ก็ยังเปิดเมือง เปิดประเทศ ไม่ได้นั่นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image