สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘โควิด-19’ กับ‘การฆ่าตัวตาย’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

 

จนถึงปัจจุบัน หลายฝ่ายคงตระนักกันแล้วว่าการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” นั้น มิได้เป็นเพียงปัญหาทางการแพทย์-สาธารณสุข

หากยังมีผลกระทบใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจและเกี่ยวพันกับมิติทางด้านสังคมอื่นๆ อย่างลึกซึ้ง

ถ้าพูดในเชิงการบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ก็น่าจะมีความข้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาว่าด้วย “ไวรัสโคโรนาฯ” ไม่แพ้กระทรวงสาธารณสุข

Advertisement

คณะนักวิจัยในโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คือ ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่พยายามกระตุ้นให้รัฐและสังคม ตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมอันเกิดขึ้นพร้อมโรคระบาด

ล่าสุด คณะนักวิจัยกลุ่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์ฆ่าตัวตายระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน ซึ่งปรากฏผ่านสื่อต่างๆ

น่าสนใจว่ามีความพยายามจะฆ่าตัวตายจำนวน 38 กรณี (เสียชีวิต 28 ราย) ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาความวิตกกังวลเรื่อง “โควิด-19” และมาตรการเข้มงวดกวดขันต่างๆ ที่รัฐใช้รับมือการแพร่ระบาด

Advertisement

ที่น่าสะเทือนใจกว่านั้น ก็คือ เราจะเห็นได้ว่ากรณีการฆ่าตัวตายเพราะสาเหตุ (ทางอ้อม) ข้างต้น มีจำนวนเท่าๆ กันกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยตรง

คณะนักวิจัยยังได้ระบุชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ที่พยายามฆ่าตัวตายเพราะ “พิษโควิด” นั้นคือแรงงานอิสระและลูกจ้าง ซึ่งสามารถเรียกรวมๆ ว่ากลุ่ม “คนจนเมือง”

นำไปสู่ข้อเสนอว่านอกจากการประกาศใช้มาตรการควบคุมโรคอันเข้มงวดและการทุ่มเททรัพยากรมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเสียชีวิตโดยตรงจากเชื้อไวรัสแล้ว รัฐบาลยังควรให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการควบคุมโรคดังกล่าว

“การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่สามารถป้องกันได้ หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรง จนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่

“หลายกรณีปรากฏอย่างชัดเจนว่าความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท คือสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตาย”

คณะนักวิจัยเสนอทางออกหลายประการให้แก่สภาพปัญหาข้างต้น อาทิ

รัฐบาลควรเยียวยาประชาชนในลักษณะของการ “ช่วยเหลือถ้วนหน้า” มิใช่ “สงเคราะห์เพียงบางคน” ดังที่กำลังลงมือปฏิบัติ

จากมาตรการปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดห้างร้าน ภาครัฐจำเป็นต้อง “เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ” สำหรับพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสระดับสูง โดยขอความร่วมมือในการควบคุมโรคจากทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนจำนวนมากสามารถกลับมาทำงานหาเลี้ยงชีวิต

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น

“ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน, การข่มขู่ว่าจะมีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉินต่อผู้ประสงค์จะแจกอาหาร, การจับกุมคนไร้บ้านด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, การจับกุมและลงโทษบุคคลด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันในการกระทำเดียวกัน เป็นต้น”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image