3เดือนรง.เลิกจ้าง8พันคน กรอ.โล่งปิดกิจการลด33% ลุ้นโควิดจบกลับมาผลิตคึก

อธิบดีกรอ.มั่นใจลงทุนไทยยังแกร่งแม้ยอดเปิดโรงงานใหม่-ขยายปิดรง.ไตรมาสแรกลดทั้งจำนวนและมูลค่า ขอดูสถานการณ์ไตรมาส2และ3ก่อนช่วงโควิดพ่นพิษเต็มที่ เผยยอดปิดโรงงานลดลงอยู่ที่ 212 แห่ง เลิกจ้าง8,000คน ลุ้นโควิด-19จบโรงงานที่หยุดผลิตชั่วคราวกลับมารับออเดอร์คึกคัก

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การเปิด-ปิดโรงงานอุตสาหกรรมช่วงไตรมาสแรกของปีนี้(มกราคม-มีนาคม2563) ว่า ยอดแจ้งเปิดโรงงานและขยายกิจการในช่วงไตรมาสแรก อยู่ที่ 649 แห่ง ลดลง 24.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมียอดเปิดโรงงานและขยายกิจการรวมอยู่ที่ 865 แห่ง มูลค่าลงทุน 59,000 ล้านบาท ลดลง 23.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าลงทุน 77,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 25,000 คน ลดลง 24.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจ้างงาน 33,000 คน อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด สถานการณ์ดังกล่าวถือว่าการลงทุนไม่ได้ลดลงมากนัก แม้เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ต้องรอตัวเลขการเปิดโรงงานในช่วงไตรมาส2(เมษายน-มิถุนายน2563) และไตรมาส3(กรกฎาคม-กันยายน2563)ก่อน จึงจะสรุปได้ว่าการลงทุนปีนี้ดีหรือไม่ดี

“สถานการณ์การลงทุนของไทยยังถือว่าไม่แย่นัก โดยเฉพาะตัวเลขลงทุนช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ใกล้เคียงปี 2562 ที่กระทบคือเดือนมีนาคม เพราะเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ประกอบกับการตัดสินใจเปิดโรงงานต้องมาจากความพร้อมของนักลงทุน บางรายได้ใบอนุญาตโรงงาน(ร.ง.4)ตั้งแต่ปี 2562 หรือบางรายเพิ่งได้ปีนี้อาจยังไม่ตัดสินใจเปิดโรงงานเลย เพราะต้องการรอความพร้อมต่างๆ และผลจากการบังคับใช้กฎหมายโรงงานฉบับใหม่ทำให้กิจการขนาดเล็กไม่ต้องมาอนุญาตตั้งโรงงานแล้ว”นายประกอบกล่าว

Advertisement

นายประกอบ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การปิดโรงงาน พบว่า ไตรมาสแรกปิดกิจการรวม 212 แห่ง ลดลง 33.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 320 แห่ง แรงงานถูกเลิกจ้าง 8,000 คน ลดลง 42.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 14,000 คน โดยอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการลงมากที่สุด คือ อาหาร การพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์จากพืช แปรรูปอาหาร ตัวเลขปิดโรงงานดังกล่าวแสดงว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่แย่นัก ส่วนกระแสข่าวปิดกิจการ เลิกจ้าง จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในภาคบริการ

นายประกอบ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องปรับกระบวนการทำงาน เน้นดูแลความปลอดภัยพนักงาน สุขอนามัยที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งกรอ.ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และได้ให้คำแนะนำ ส่วนกรณีโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งปิดกิจการชั่วคราว เป็นการปรับตัวของโรงงาน อาทิ โรงงานปูนซิเมนต์ มาจากยอดขายที่ลดลง จึงจำเป็นต้องหยุดการผลิต แต่หากโควิด-19จบลงก็เชื่อว่าจะกลับมาผลิตเหมือนเดิม และอาจต้องเร่งการผลิตเพื่อรองรับออเดอร์ที่คาดว่าจะเข้ามามากหากสถานการณ์ปกติ ส่วนปัญหาภัยแล้ง เบื้องต้นยังไม่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมมากนัก เพราะส่วนใหญ่ขุดสระน้ำไว้ใช้เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image